คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้โจทก์มีข้อโต้แย้งกับทางราชการเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันอาจถูกเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่การที่จำเลยใช้ให้คนนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันที่ดินพิพาทแล้วจุดไฟเผาต้นไม้ต่าง ๆ ที่โจทก์ปลูกไว้เสียหาย แม้จะอ้างว่ากระทำไปโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ของหน่วยราชการ แต่ก็เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เล่มที่ 2 หน้า 104 สารบบเล่ม 626 เนื้อที่ 30 ไร่ และที่ดินอื่นอีก 100 ไร่ รวมเนื้อที่ 130 ไร่ โดยซื้อมาจากนายแถม เชื้อเกษกิจ เมื่อ 20 ปี มาแล้ว โจทก์ทำประโยชน์ด้วยการปลูกพืชไร่ประเภทต้นมะม่วง ต้นยูคาลิปตัสและไม้ยืนต้นอื่น ๆ ส่วนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยทั้งสองจ้างบุคคลอื่นนำรถแทรกเตอร์และรถไถบุกรุกเขาไปไถดันดินในที่ดินแปลงดังกล่าวทางด้านทิศใต้เนื้อที่ 40 ไร่เศษและจุดไฟเผาเป็นเหตุให้ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกได้รับความเสียหาย 16,000 ต้นราคาต้นละ 10 บาท เป็นเงิน 160,000 บาท ต้นมะม่วง 15 ต้น ราคาต้นละ 3,000 บาทเป็นเงิน 45,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 205,000 บาท แล้วจำเลยทั้งสองปลูกอาคารและสิ่งปลูกสร้างลงบนที่ดินพร้อมทั้งครอบครองที่ดินโจทก์ทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 205,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันทำละเมิดไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพาบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์อีก

จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จังหวัดอุทัยธานีจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์อุทัยธานีในที่ดินพิพาท ต้นไม้ในที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ3,000 บาท คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 825 บาท แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญาก่อสร้างสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์อุทัยธานีในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 130 ไร่ เป็นที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เล่มที่ 2 หน้า 104สารบบเล่ม 626 ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เนื้อที่ 30 ไร่ ใบจองนี้นายอำเภอสว่างอารมณ์แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2538 ว่า ออกทับที่สาธารณประโยชน์ (หน้าเขาป่ารวก) ให้นำใบจองไปคืนเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอสว่างอารมณ์เพื่อดำเนินการเพิกถอนต่อไป โจทก์ทำบันทึกถ้อยคำคัดค้านการเพิกถอนใบจองดังกล่าว และได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่107/2539 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดีในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ในคดีนี้ศาลวินิจฉัยว่า ยังไม่ได้ข้อยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณประโยชน์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ในคดีเดิมแม้ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันอาจถูกเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ใช้คนนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดันที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้เป็นเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ แล้วจุดไฟเผาต้นไม้ต่าง ๆ ทำให้ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกไว้ประมาณ 10 เดือน ถูกไฟเผาไหม้ได้รับความเสียหายจำนวน 16,000 ต้น ราคาต้นละ10 บาท คิดเป็นค่าเสียหาย 160,000 บาท และต้นไม้อื่น ๆ เสียหายอีกนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่ากระทำไปโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย ล.1 ก็ตามแต่พฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สินของโจทก์บนที่ดินพิพาทโดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมายเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ เมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…

อนึ่งในชั้นนี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายจำนวน 172,000 บาทคิดเป็นค่าขึ้นศาล 4,300 บาท จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์205,000 บาท เป็นเงิน 5,125 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาเป็นเงิน 825 บาทแก่จำเลยทั้งสอง

พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมา 825 บาท แก่จำเลยทั้งสองค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share