คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 กำหนดวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้เป็นพิเศษนอกเหนือจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาโดยทั่ว ๆ ไปการพิจารณาคดีของศาลแขวงจึงแตกต่างจากคดีอาญาอื่น โดยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาได้และให้ศาลบันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน การฟ้องคดีอาญาในศาลแขวงจึงไม่ต้องปฏิบัติเคร่งครัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 โดยเฉพาะในอนุมาตรา 5 ว่าด้วยรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระทำ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะสอบถามรายละเอียดพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี
โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ช่วยเหลือ ช่วยซ่อนเร้น พ. ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายอันมิใช่ความผิดลหุโทษ โดยรับขึ้นรถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับจากที่เกิดเหตุไปส่งยังที่อื่น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ พ. ถูกจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 คำฟ้องดังกล่าวแม้จะไม่ได้บรรยายว่าจำเลยมีเจตนากระทำเพื่อไม่ให้ พ. ต้องโทษก็ตาม แต่การที่จำเลยรับ พ. ขึ้นรถแล้วขับรถไปส่งยังที่อื่นเพื่อไม่ให้ พ. ถูกจับกุม ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าจำเลยกระทำเพื่อไม่ให้ พ. ต้องรับโทษ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางวันจำเลยช่วยเหลือซ่อนเร้นนายพินิจ วันทาวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย อันมิใช่ความผิดลหุโทษ โดยรับขึ้นรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0348 สตูล ที่จำเลยขับจากที่เกิดเหตุไปส่งยังที่อื่นทั้งนี้เพื่อมิให้นายพินิจถูกเจ้าพนักงานจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189จำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยช่วยเหลือนายพินิจ วันทาวัฒน์ โดยไม่ทราบว่านายพินิจขับรถชนคนตาย จำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดนั้น เห็นว่า เป็นการฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ถือได้ว่าเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยที่ช่วยเหลือนายพินิจ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม แต่ไม่ได้บรรยายว่าเพื่อไม่ให้ต้องโทษ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 กำหนดวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อความสะดวกรวดเร็วไว้เป็นพิเศษนอกเหนือจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาโดยทั่ว ๆ ไป แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาของศาลแขวงแตกต่างจากคดีอาญาอื่น โดยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาได้และให้ศาลบันทึกใจความแห่งคำฟ้องไว้เป็นหลักฐาน การฟ้องคดีอาญาในศาลแขวงจึงไม่ต้องปฏิบัติเคร่งครัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 โดยเฉพาะในอนุมาตรา 5 ว่าด้วยรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระทำ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะสอบถามรายละเอียดพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้แล้วว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ช่วยเหลือ ช่วยซ่อนเร้นนายพินิจ ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายอันมิใช่ความผิดลหุโทษ โดยรับขึ้นรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน70-0348 สตูล ที่จำเลยขับจากที่เกิดเหตุไปส่งยังที่อื่น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้นายพินิจถูกจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 คำฟ้องดังกล่าวแม้จะไม่ได้บรรยายว่า จำเลยมีเจตนากระทำเพื่อไม่ให้นายพินิจต้องโทษก็ตาม แต่การที่จำเลยรับนายพินิจขึ้นรถแล้วขับรถไปส่งยังที่อื่นเพื่อไม่ให้นายพินิจถูกจับกุม ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าจำเลยกระทำเพื่อไม่ให้นายพินิจต้องรับโทษ ซึ่งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้น คำฟ้องที่โจทก์ฟ้องด้วยวาจาตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ระหว่างรอการลงโทษให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา10 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share