คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2000/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

งานภาพพิมพ์รูปการ์ตูนหมีพูห์ของผู้เสียหาย อันเป็นศิลปกรรมอยู่ในประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายสร้างสรรค์จินตนาการเป็นงานศิลปกรรมนั้น เป็นการสร้างสรรค์จินตนาการโดยวิจักขณ์จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัตว์โลกที่เรียกกันว่า “หมี” (BEAR) มาเป็นงานศิลปกรรมในรูปการ์ตูน มนุษย์เมื่อพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็สามารถสร้างจินตนาการในศิลปะลักษณะต่าง ๆ กันได้ และเมื่อการสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนมีที่มาจากสัตว์ธรรมชาติอย่างเดียวกัน โดยการริเริ่มขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์แต่ละคน งานศิลปกรรมดังกล่าวจึงอาจจะเหมือนกันหรือคล้ายกันได้โดยไม่จำต้องมีการลอกเลียนทำซ้ำหรือดัดแปลงงานของกันและกันแต่อย่างใด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่ความคิดในการสร้างสรรค์งาน ฉะนั้น การใช้ความคิดริเริ่มนำความสวยงามตามธรรมชาติของสัตว์โลกมาสร้างสรรค์เป็นภาพการ์ตูนจึงเป็นความคิดที่กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้ กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิดเท่านั้นและการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดดังกล่าวจนถึงขั้นที่ผู้สร้างสรรค์จะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์นั้น ยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 8 ด้วย
แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพพิมพ์หมีพูห์ของผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อลูกโป่งมาขายแก่ลูกค้าโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพบนลูกโป่งว่าจะเป็นภาพใด แต่เน้นที่สีของลูกโป่ง เนื้อของลูกโป่ง ความยืดหยุ่น และลูกโป่งที่ไม่รั่วเท่านั้น ทั้งลูกโป่งดังกล่าวที่มีภาพหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้แยกออกมาจากลูกโป่งจำนวนประมาณ 1,000,000 ใบ มีจำนวนเพียง 4,435 ใบ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยมาก ข้อเท็จจริงจึงไม่พอให้รับฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพพิมพ์บนลูกโป่งของกลางนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยยังนำลูกโป่งที่มีภาพพิมพ์นั้นออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และ 70 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔, ๖, ๘, ๑๕, ๒๗, ๓๑, ๖๑, ๗๐, ๗๕ และ ๗๖ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ ให้ลูกโป่งซึ่งมีรูปหมีพูห์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องดังกล่าวตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายค่าปรับแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า บริษัทดิสนีย์เอ็นเตอร์ไพรส์เซส อิงค์ จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเดิมมีชื่อว่า บริษัทวอลต์ ดีสนีย์ จำกัด (The Walt Disney Company) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาคีในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์ตัวการ์ตูนรูปหมีพูห์ (Winnie the Pooh) คือภาพดังต่อไปนี้ จำเลยมีอาชีพขายลูกโป่ง โดยจำเลยซื้อลูกโป่งมาจากบุคคลอื่น แล้วนำมาบรรจุลงในแผงกระดาษเพื่อนำออกขายโดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปช้าง คือเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ ๔๙ ชนิดสินค้าเครื่องเล่นทุกชนิดและบรรดาสินค้าทั้งมวลซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๒ แผงกระดาษแผงหนึ่งจะบรรจุลูกโป่งจำนวน ๒๐ ใบ ซึ่งบางแผงจะมีลูกโป่งที่มีภาพการ์ตูนรูปหมีพูห์ ที่ผู้เสียหายอ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศของบริษัทดิสนีย์เอ็นเตอร์ไพรส์เซส อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายจำนวนประมาณ ๒ ถึง ๔ ใบ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า งานภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหาย อันเป็นศิลปกรรมอยู่ในประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายสร้างสรรค์จินตนาการเป็นงานศิลปกรรมนั้น เป็นการสร้างสรรค์จินตนาการโดยวิจักขณ์จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัตว์โลกที่เรียกกันว่า “หมี” (BEAR) มาเป็นงานศิลปกรรมในรูปการ์ตูน มนุษย์เมื่อพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็สามารถสร้างสรรค์จินตนาการในศิลปะในลักษณะต่าง ๆ กันได้ การที่มีบุคคลสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนจากสัตว์โลกที่เป็นธรรมชาติจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อการสร้างสรรค์จินตนาการภาพการ์ตูนมีที่มาจากสัตว์ธรรมชาติอย่างเดียวกันโดยการริเริ่มขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์แต่ละคน งานศิลปกรรมดังกล่าวจึงอาจจะเหมือนหรือคล้ายกันได้โดยไม่จำต้องมีการลอกเลียนทำซ้ำกันหรือดัดแปลงงานของกันและกันแต่อย่างใด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคสอง ไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่ความคิดในการสร้างสรรค์งาน ฉะนั้น การใช้ความคิดริเริ่มนำความสวยงามตามธรรมชาติของสัตว์โลกมาสร้างสรรค์จินตนาการเป็นภาพการ์ตูนจึงเป็นความคิดที่กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้ กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิดเท่านั้น และการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดดังกล่าวจนถึงขั้นที่ผู้สร้างสรรค์จะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์นั้นยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๘ ด้วย แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าภาพหมีพูห์บนลูกโป่งของกลางได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพพิมพ์หมีพูห์ของผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง ปรากฏว่าจำเลยสั่งซื้อลูกโป่งมาขายโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพบนลูกโป่งว่าจะเป็นภาพใด แต่เน้นที่สีของลูกโป่ง เนื้อลูกโป่ง ความยืดหยุ่น และลูกโป่งที่ไม่รั่วเท่านั้น ทั้งลูกโป่งดังกล่าวที่มีภาพหมีพูห์ที่คล้ายภาพหมีพูห์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้แยกออกมาจากลูกโป่งจำนวนประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ใบ มีจำนวนเพียง ๔,๔๓๕ ใบ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนน้อยมาก ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานภาพพิมพ์บนลูกโป่งของกลางนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์รูปหมีพูห์ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยยังนำลูกโป่งที่มีภาพพิมพ์นั้นออกขายแก่ลูกค้าทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ และ ๗๐ วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบด้วยเหตุผลแล้ว
พิพากษายืน.

Share