คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบอนุญาตแบบ ป.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนจากผู้ที่ระบุไว้หากไปซื้อจากผู้อื่น ก็ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต ฉะนั้น เมื่อในใบอนุญาตแบบ ป.3 นี้ กำหนดให้ซื้อจากร้านจำหน่ายอาวุธปืน จำเลยไม่ใช่ผู้ตั้งร้านจำหน่ายอาวุธปืนได้ขายอาวุธปืนให้จึงเป็นการโอนอาวุธให้แก่ผู้มิได้รับอนุญาตตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯแต่ไม่ผิดตามมาตรา 34 เพราะมาตรา 34 เป็นบทบัญญัติอยู่ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า และเป็นบทห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำหน่ายอาวุธปืนและกระสุนปืนให้แก่ผู้ที่มิได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีอาวุธปืนคอลท์รีวอลเวอร์ ขนาด.๓๘ ใบอนุญาตเลขที่ ๗๔๑/๒๔๙๙ เลขทะเบียน ก.ท.๑๕๘๙๙๒ หนึ่งกระบอก จำเลยจำหน่ายปืนดังกล่าวพร้อมกระสุน ๖ นัดให้แก่นายเพิ่ม ภู่ศิลป์ผู้ที่มิได้รับอนุญาตให้ซื้อ หรือมีและใช้ และจำเลยได้โอนส่งมอบอาวุธปืนกระสุนปืนให้แก่นายเพิ่ม ภู่ศิลป์ โดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓๔,๕๙,๗๒,๗๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓๔,๕๙ ลงโทษตามมาตรา ๗๓ ซึ่งเป็นบทหนัก ปรับ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายโดยพิจารณาแบบ ป.๓ ท้ายกฎกระทรวง(พ.ศ.๒๔๙๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๖ ว่า แบบ ป.๓ นี้คือใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล ใบแบบ ป.๓ นี้ นอกจากจะให้นายทะเบียนระบุชนิด ขนาด จำนวนอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนที่จะอนุญาตให้ซื้อได้แล้วยังกำหนดให้นายทะเบียนระบุว่าผู้รับอนุญาตจะซื้ออาวุธปืนหรืเครื่องกระสุนปืนจากผู้ใดไว้ด้วย เช่นนี้เห็นว่า ข้อความที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ผู้รับอนุญาตต้องซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนจากผู้ที่ระบุไว้ หากไปซื้อจากผู้อื่น ก็ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีได้ความว่า ใบอนุญาตป.๓ เจ้าพนักงานออกให้นายเพิ่ม ภู่ศิลป์ กำหนดให้ซื้อจากร้านจำหน่ายอาวุธปืนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยไม่ใช่ผู้ตั้งร้านจำหน่ายอาวุธปืนได้ขายอาวุธปืนให้แก่นายเพิ่ม จึงเป็นการโอนอาวุธปืนให้แก่ผู้ที่มิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๕๙ ส่วนมาตรา ๓๔ เป็นบทบัญญัติอยู่ในส่วนที่ ๒ ว่าด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า มา ๓๔ นี้ เป็นบทห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน
จำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้แก่ผู้ที่มิได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าอาวุธปืน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้ แต่ศาลชั้นต้นวางโทษแรงเกินไป น่าเชื่อว่าจำเลยโอนอาวุธปืนเพราะเข้าใจว่านายเพิ่มได้รับอนุญาตให้ซื้อแล้ว แม้จะมิได้รับอนุญาตให้ซื้อจากจำเลย ก็ได้ความจากพยานโจทก์ว่าอาจร้องขอให้นายทะเบียนแก้ไขใบอนุญาตได้ และจำเลยกับนายเพิ่มเคยไปร้องขอโอนอาวุธปืนแล้ว หากนายเพิ่มลืมเอาใบอนุญาต ป.๓ ไป ทางอำเภอ จึงไม่โอนให้ จึงควรลงโทษสถานเบา พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๕๙,๗๒ ปรับ ๒๐๐ บาท นอกจากที่แก้ยืน

Share