แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเปิดสมุดบัญชีเงินฝากเพื่อให้ ป. ใช้รับโอนเงินค่ายาเสพติดจากลูกค้า จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือ ป. ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3606/2558 ของศาลชั้นต้น เมื่อได้ความว่า การกระทำความผิดของ ป. ต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ป. ตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกเพียง 15 ปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาแก้ไขโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/2 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 6, 8
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 15 ปี
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายประยงค์ ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 1,600 เม็ด และชนิดเกล็ด 1 ถุง น้ำหนัก 100 กรัม กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เป็นของกลาง ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้องนายประยงค์ในข้อหาดังกล่าวเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3606/2558 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนายประยงค์ให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท จากการสอบสวนขยายผลของเจ้าพนักงานตำรวจพบว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 จำเลยได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่ 650-2-14xxx-x ไว้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นในระหว่างวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง มีการโอนเงินค่ายาเสพติดจากการกระทำความผิดของนายประยงค์เข้าบัญชีและเบิกถอนออกไปหลายครั้ง พนักงานสอบสวนเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของนายประยงค์ จึงขออนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แจ้งข้อหาคดีนี้แก่จำเลย หลังจากนั้นขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลย ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อให้ผู้กระทำความผิดโอนเงินค่ายาเสพติดเข้าฝากและเบิกถอนออกไปเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของกลุ่มผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะ ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีมาประกอบการพิจารณาเป็นสำคัญ สำหรับคดีนี้โจทก์มีร้อยตำรวจโทจำนงค์ และร้อยตำรวจโทใจกล้า เป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า ภายหลังจากมีการจับกุมนายประยงค์ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว พยานทั้งสองได้ร่วมกันสืบสวนขยายผล โดยร้อยตำรวจโทจำนงค์สอบปากคำนายประยงค์ได้ความว่า รับเมทแอมเฟตามีนจากนายชัช ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริง และนายหัสพงศ์ เมื่อขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ลูกค้าแล้ว ลูกค้าจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ได้เปิดไว้หลายบัญชี รวมทั้งบัญชีของจำเลยด้วย ซึ่งนายประยงค์จ้างให้เปิดบัญชีไว้รับโอนค่ายาเสพติดให้ญาติของนายชัชและนายหัสพงศ์ นอกจากนี้ยังพบใบโอนเงินจากบัญชีของจำเลยเข้าบัญชีของนางสาววิจิตตา พี่ภริยานายชัช และบัญชีของนางสาวปิยะมาศ ภริยานายหัสพงศ์ พยานทั้งสองตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 09 1406 xxxx ของนายประยงค์พบว่า มีการส่งข้อความให้บุคคลอื่นโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย และมีบันทึกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 08 9224 xxxx ของจำเลยไว้ด้วย นอกจากนี้โจทก์มีนางสาวสรารัตน์ ภริยานายประยงค์ มาเบิกความสนับสนุนอีกปากหนึ่งว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุ พยานอยู่กินเป็นสามีภริยากับนายประยงค์ ขณะนายประยงค์ถูกจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจยึดยาเสพติดของกลางได้ในบ้านที่พักอาศัยอยู่ด้วยกัน พยานทราบว่านายประยงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นเพื่อนกันเปิดบัญชีเงินฝากพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มไว้ให้เพื่อรับโอนเงินค่ายาเสพติดจากลูกค้า แล้วใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินโอนไปให้เจ้าของยาเสพติด และในภายหลังพยานถูกฟ้องข้อหาสมคบกับนายประยงค์กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พยานให้การรับสารภาพตามฟ้อง และก่อนหน้าถูกจับกุม พยานเคยให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนไว้จริง ดังนี้ จะเห็นได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความถึงการกระทำความผิดของจำเลยได้สอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ โดยยืนยันตรงกันว่าการเปิดบัญชีเงินฝากของจำเลยกระทำขึ้นเพื่อรับโอนเงินค่ายาเสพติดของนายประยงค์ ซึ่งในชั้นสอบสวนพยานทั้งสามก็ให้การไว้ในทำนองเดียวกัน โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ เฉพาะอย่างยิ่งนางสาวสรารัตน์เป็นเพื่อนกับจำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และในคดีที่นางสาวสรารัตน์ถูกฟ้องในข้อหาสมคบกับนายประยงค์กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด นางสาวสรารัตน์ก็ได้ให้การรับสารภาพ จึงไม่มีเหตุที่จะให้การและเบิกความซัดทอดจำเลยโดยปราศจากมูลความจริง เพราะไม่ทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ในทางคดีแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าให้การและเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับพยานโจทก์อีก 2 ปาก ข้างต้น อีกทั้งจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุได้เปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวพร้อมทำบัตรเอทีเอ็มมอบให้นางสาวสรารัตน์ไว้จริง เป็นการเจือสมให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มของจำเลยได้จากนางสาวสรารัตน์ มิใช่ยึดได้จากนายประยงค์โดยตรง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุบุคคลทั้งสองอยู่กินเป็นสามีภริยากัน และนางสาวสรารัตน์เบิกความยืนยันว่า นายประยงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นเพื่อนกันเปิดบัญชีเงินฝากไว้ให้ และเก็บไว้ในรถยนต์ที่นางสาวสรารัตน์กับนายประยงค์ใช้ร่วมกัน แล้วนายประยงค์ใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยรับโอนเงินค่ายาเสพติดจากลูกค้า เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1406 xxxx ได้จากนายประยงค์เป็นของกลางด้วย และตรวจสอบพบว่ามีการบันทึกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ 08 9224 xxxx ของจำเลยไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้จักคุ้นเคยกับนายประยงค์จริง อีกทั้งได้ความว่าในโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายประยงค์มีการพูดคุยทางแอปพลิเคชันไลน์แจ้งให้บุคคลอื่นโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยอย่างชัดเจน ซึ่งในข้อนี้จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น และข้อเท็จจริงยังได้ความว่า นับแต่วันที่จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากถึงวันที่นายประยงค์ถูกจับกุมรวมเวลา 2 เดือนเศษ มีการโอนเงินเข้าฝากและถอนออกจากบัญชีของจำเลยสูงถึงเกือบ 300,000 บาท บางวันมีการเคลื่อนไหวทางบัญชีหลายครั้งเป็นพิรุธ และขัดกับข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยที่อ้างว่า ให้นางสาวสรารัตน์ยืมสมุดบัญชีเงินฝากไปใช้ในการรับโอนเงินจากมารดา ซึ่งเป็นการเบิกความที่เลื่อนลอย ไม่ปรากฏว่ามารดาของนางสาวสรารัตน์มีรายได้จากแหล่งใด จึงสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยได้จำนวนมากเช่นนี้ ที่จำเลยอ้างว่านางสาวสรารัตน์ทำบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารได้เองจึงมาขอยืมสมุดบัญชีเงินฝากของจำเลยไปใช้แทน โดยจำเลยไม่ทราบว่าจะนำสมุดบัญชีเงินฝากไปเพื่อรับโอนเงินค่ายาเสพติดนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและขัดต่อเหตุผล ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธเพียงลอยๆ ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าถูกหลอกลวงยืมสมุดบัญชีเงินฝากไปใช้แต่อย่างใด เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นพิจารณา โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักแก่การเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือนายประยงค์ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับนายประยงค์จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3606/2558 ของศาลชั้นต้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำความผิดของนายประยงค์ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายประยงค์ตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกเพียง 15 ปี จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาแก้ไขโทษของจำเลยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสาม ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์