คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปลอมหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนและการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และ จ. ในความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 6,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกับนายเสนอ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้วได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรกขึ้นทั้งฉบับ และจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลอมขึ้น อ้างแสดงต่อนายสิทธิพงษ์ เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้ จังหวัดมุกดาหารเพื่อให้ออกใบเบิกทางให้จำเลยทั้งสองกับพวกนำไม้พะยูงเคลื่อนที่จากด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารไปยังด่านศุลกากรลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ข้อเท็จจริงในคดีได้ความต่อมาว่า เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารได้ออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ให้แก่จำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และนายเสนอได้อาศัยใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ นำไม้พะยูงเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยไม่หยุดและไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้หินกอง ตรวจสอบให้ผ่านด่าน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และนายจิตรชัย ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพระโขนง ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษายกฟ้อง ส่วนข้อหาความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง ปรากฏตามคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการซึ่งส่งมาตามหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุของศาลชั้นต้นในสำนวน แต่ต่อมานายสุรเดช หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติภารกิจในราชการส่วนภูมิภาค (ด่านป่าไม้) จังหวัดมุกดาหารอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่จากกระทรวงการต่างประเทศซึ่งยืนยันว่าใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรกเป็นเอกสารปลอม จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เห็นว่า การปลอมใบอนุญาตผ่านแดนแผ่นแรก และการใช้ใบอนุญาตผ่านแดนแผ่นแรกซึ่งเป็นเอกสารปลอม ก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจำด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารออกใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ โดยคำขอใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ซึ่งอยู่ตอนท้ายเอกสารแผ่นแรก ระบุความประสงค์ ขอใบเบิกทางกำกับไม้พะยูงลาวท่อนซึ่งจะนำเคลื่อนที่จากด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับข้อความในใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ซึ่งอนุญาตให้นำไม้หรือของป่าคือไม้พะยูงลาวเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ดังนี้ การปลอมเอกสารหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก และการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรกซึ่งเป็นเอกสารปลอม จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไม้พะยูงที่อ้างว่ามีจำนวนและปริมาตรตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอม เคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และนายจิตรชัยในข้อหาความผิดฐานร่วมกันนำไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเนื้อหาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เพราะไม่ทำให้คดีเปลี่ยนแปลง สำหรับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมใช้ใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าความผิดฐานนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2549 เวลากลางวัน โดยจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันอ้างหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมดังกล่าวแสดงต่อนายสิทธิพงษ์ ผู้เสียหาย แต่ตามคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการซึ่งส่งมาตามหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุของศาลชั้นต้นในสำนวนได้ความว่า ผู้ที่นำใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมดังกล่าวมายื่นต่อผู้เสียหายในวันเกิดเหตุคือนายสุรชาติ ผู้รับมอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 2 สอดคล้องกับคำขอใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ซึ่งปรากฏลายมือชื่อของนายสุรชาติเป็นผู้ยื่นคำขอ โดยโจทก์มิได้นำผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมอ้างแสดงต่อผู้เสียหายในวันเกิดเหตุด้วยแต่ประการใด แม้นายสุรเดช พยานโจทก์จะเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เคยนำหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนทั้งชุดซึ่งมีหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก อันเป็นเอกสารปลอมรวมอยู่ด้วย มาให้พยานตรวจดู แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ 6 สิงหาคม 2549 จึงมิใช่การกระทำตามฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอมในวันเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 83 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share