คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ในข้อ 3 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยามว่า “รถยนต์” หมายความว่า “รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคนและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก” มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน เป็นรถลากจูงไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนัก 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันทันทีนับแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ มิใช่การเลิกสัญญาโดยสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์
แม้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่นอกจากจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,596,193.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 720,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 4,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 พฤษภาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท แก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยทั้งสองชำระเกินมารวม 48,373 บาท แก่จำเลยทั้งสอง คำขอในส่วนค่าขาดราคาให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ลากจูง ยี่ห้อมิตซูบิชิ ฟูโซ่ รุ่น FV51JHR3RDH1 จำนวน 3 คัน และรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน ตามฟ้อง จากโจทก์ในราคา 15,813,600 บาท โดยชำระครั้งแรกในวันทำสัญญา 1,320,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระ 48 งวด งวดละ 301,950 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 สิงหาคม 2557 โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาเช่าซื้อไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 8 งวด จำเลยที่ 1 เริ่มผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ครบจำนวนตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระบางส่วนเป็นเงิน 299,937 บาท แล้วไม่ชำระอีกเลย ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อทั้งหมดกลับคืนมาในสภาพชำรุดแล้วนำออกประมูลขายได้เงินเพียง 5,901,869.16 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 400,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อรถตามฟ้องอยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 หรือไม่ หากไม่อยู่ในบังคับ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ที่ออกตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 3, 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดธุรกิจควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2555 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ให้คำนิยาม “รถยนต์” ที่อยู่ในประกาศดังกล่าวในข้อ 3 ว่า “หมายความว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก” มิได้หมายความว่ารถยนต์ทุกประเภทจะอยู่ในบังคับตามประกาศดังกล่าว เมื่อพิจารณาสัญญาเช่าซื้อระบุทรัพย์เช่าซื้อเป็นรถยนต์ลากจูงและรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผง 3 เพลา จำนวน 3 คัน โดยรายการจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อระบุรายละเอียดของรถส่วนที่เป็นรถยนต์ลากจูงว่า เป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทาง โดยสองคันแรกมีน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม คันสุดท้ายมีน้ำหนักรถ 8,200 กิโลกรัม ส่วนรถกึ่งพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ผงเป็นประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทางทั้งสามคันมีน้ำหนักรถคันละ 8,400 กิโลกรัม การเช่าซื้อรถตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ขั้นตอนการเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่อยู่ในบังคับตามที่ระบุในประกาศดังกล่าว โดยต้องพิจารณาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 7 มีข้อกำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยผู้ให้เช่าซื้อมิจำต้องบอกกล่าวก่อน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เริ่มผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ครบจำนวนตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยชำระเพียงบางส่วน และหลังจากนั้นไม่ชำระค่าเช่าซื้อเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2558 ตามข้อกำหนดในสัญญา มิใช่การเลิกสัญญาด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เมื่อมีการเลิกสัญญา ผลของการเลิกสัญญาต้องบังคับตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อข้อ 8 โดยเมื่อโจทก์ได้รับรถที่เช่าซื้อคืนมาแล้วสามารถนำรถออกขายทอดตลาดได้ ปรากฏว่าราคาที่ขายได้ไม่คุ้มกับราคารถ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ยังขาดอยู่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคา แต่ที่โจทก์เรียกค่าขาดราคาใกล้เคียงกับค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ เมื่อพิจารณาว่ารถที่เช่าซื้อมีราคา 13,200,000 บาท หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่ผู้ขาย คงเหลือยอดเงินที่นำมาขอจัดสินเชื่อเช่าซื้อกับโจทก์เป็นเงิน 11,880,000 บาท ขณะโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายรถดังกล่าวใช้งานโดยชอบมาแล้วเกือบ 1 ปี โดยเป็นรถที่ใช้งานประเภทบรรทุกย่อมต้องเสื่อมราคาไปบ้างตามสภาพการใช้งาน เมื่อพิจารณาค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระในครั้งแรกกับอีก 9 งวด และราคารถที่โจทก์นำออกขายทอดตลาดได้ 5,901,869.16 บาท แล้ว เห็นควรกำหนดค่าขาดราคาให้โจทก์ 2,950,000 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนของค่าขาดราคาจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 แม้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 บัญญัติให้กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับสิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเริ่มผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 จึงต้องบังคับตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด… และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ตาม แต่นอกจากจำเลยที่ 2 จะถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน ยังถูกฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าขาดราคา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดในค่าขาดราคา 2,950,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 400,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,350,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดเป็นเงิน 3,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 พฤษภาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share