คำสั่งคำร้องที่ 1849/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 236 วรรคหนึ่ง นั้นไม่จำต้องคำนึงว่าในการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีวินิจฉัยเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์อาจจะมาจากเหตุอื่น โดยไม่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ แต่ทั้งนี้ การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์จะต้องมาจากลักษณะเดียวกันกับศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยมีคำสั่ง ดังนั้น เมื่อได้ความว่าครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์แล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ คงนำแต่ค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาลโดยมิได้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย โดยวินิจฉัยถึงเหตุเดียวกันเช่นนี้ คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2541 จำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันนี้ล่วงเลยระยะเวลาแล้วจึงสั่งไม่รับอุทธรณ์
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาออกไป ซึ่งศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2541 แต่เมื่อถึงกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายจำเลยนำแต่เพียงเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาล โดยไม่ได้นำอุทธรณ์มายื่นด้วยในวันนั้นจำเลยเพิ่งนำอุทธรณ์มายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม2541 การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการยื่นเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ เหตุขัดข้องในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยตามที่ยกขึ้นอ้างในคำร้อง ไม่ใช่เหตุที่จะยกขึ้นอ้างได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดไม่รับฎีกา
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง นั้น ไม่จำต้องคำนึงว่า ในการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีวินิจฉัยเฉพาะเนื้อหาอุทธรณ์ดังเช่นที่จำเลยอ้างเท่านั้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์อาจจะมาจากเหตุอื่น โดยไม่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ แต่ทั้งนี้การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์จะต้องมาจากลักษณะเดียวกันกับศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยมีคำสั่ง เกี่ยวกับคดีเรื่องนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2541 แต่จำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ คงนำแต่ค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาลโดยมิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2541 จำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย โดยวินิจฉัยถึงเหตุเดียวกันเช่นนี้ คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย จึงชอบแล้ว ค่าคำร้องให้เป็นพับ”

Share