แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์จำเลยที่1เป็นผู้ครอบครองดูแลแทนโจทก์การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่1ที่2และที่3ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนไม่อยู่ในบังคับอายุความเพิกถอนการฉ้อฉล
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่120 ไร่ อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมาเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2523 จำเลยที่ 1นำที่ดินตีใช้หนี้ให้แก่นายโอภาส เผ่าชูศักดิ์ นายโอภาสขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในปี 2524 พร้อมส่งมอบการครอบครองที่ดินให้และโจทก์มอบให้นายโอภาสและจำเลยที่ 1 ครอบครองดูแลที่ดินแทน เมื่อต้นเดือนมกราคม 2534 โจทก์ไปยื่นคำขอออกหลักฐานสำหรับที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินของโจทก์ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) รวม 3 แปลง คือ น.ส. 3 ก.เลขที่ 1680, 1681 และ 1682 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา โจทก์ยื่นคัดค้านขออายัดที่ดินทั้งสามแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่รับคำขออายัด ในวันที่ 8 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 700,000 บาท ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2534จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์อีก โดยจำเลยที่ 2จดทะเบียนขายที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคา 750,000 บาทโดยจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่า โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องเรียกที่ดินคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียเปรียบและมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับที่ดินพิพาทคืนโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลง และเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในปี 2534 โจทก์ขาดประโยชน์เป็นเงินปีละ 50,000 บาทขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 120 ไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1680, 1681 และ 1682ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน50,000 บาท และปีต่อ ๆ ไปปีละ 50,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสามจะไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถคืนที่ดินให้แก่โจทก์ ก็ขอให้ใช้ราคา 750,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ในวันที่ 9 มกราคม 2534 แต่โจทก์ไม่ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลภายใน 1 ปีขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่120 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา ห้ามจำเลยทั้งสามกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 1680ถึง 1682 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2534 และ 11 เมษายน 2534ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ปีละ 30,000 บาท นับแต่ปี2535 ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะออกไปจากที่ดินของโจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 120 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา โดยจำเลยที่ 1 ให้นายเดช จันทวีระทำกินต่างดอกเบี้ย ต่อมาจำเลยที่ 1 มอบให้นายเสรี ไชยกิตติเป็นทนายความฟ้องเรียกที่ดินคืนจากนายเดชตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 963/2524 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีนายเดชฎีกาอย่างคนอนาถาระหว่างไต่สวนคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา จำเลยที่ 1 กับนายเดชตกลงกันได้ โดยจำเลยที่ 1ชำระเงินให้นายเดช 35,000 บาท และนายเดชจะถอนฎีกาและคืนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ปรากฎตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครราชสีมาหมายเลขแดงที่ 963/2524 ในระหว่างนั้นนายโอภาส เผ่าชูศักดิ์ ไปกู้ยืมเงินจากโจทก์ 250,000 บาทเมื่อครบกำหนดชำระหนี้ไม่มีเงินคืนให้โจทก์นายโอภาสจึงตกลงยกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าได้รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ติใช้หนี้ให้โจทก์แต่ไม่ไปดำเนินการออกหลักฐานและโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงมอบให้นายธำรง ยุวรัตน์ ฟ้องนายโอกาสให้โอนขายที่พิพาทที่ตกลงขายให้โจทก์ แต่โจทก์และนายโอภาสตกลงกันได้ จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนายโอภาสจะจดทะเบียนโอนที่ดินติใช้หนี้แก่โจทก์ ปรากฏตามคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครราชสีมาหมายเลขแดงที่ 737/2531 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2533โจทก์ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน และในวันที่ 9 มกราคม 2534 ตรวจพบว่า จำเลยที่ 1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่พิพาทแล้วตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 1680 ถึง 1582 ในวันดังกล่าวโจทก์ยื่นคำคัดค้านและขออายัดที่ดิน วันที่ 6 มีนาคม 2534เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่รับคำขออายัด ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา700,000 บาท และในวันที่ 11 เมษายน 2534 จำเลยที่ 2จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทต่อให้จำเลยที่ 3 ในราคา 750,000 บาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ ล.2 ถึง ล.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์และโจทก์จะขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้หรือไม่ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทเพื่อติใช้หนี้ให้แก่นายโอภาส เผ่าชูศักดิ์ และนายโอภาสได้โดยขายต่อให้โจทก์จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้นายโอภาสหรือไม่ ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองดูแลแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์การที่จำเลยที่ 1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโอนขายให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนขายให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ชอบที่โจทก์ขอให้เพิกถอนได้ ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลหรือไม่ ในข้อนี้เมื่อฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลแทนโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน ไม่อยู่ในบังคับอายุความเพิกถอนการฉ้อฉล ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน