คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องหาได้ไม่ เนื่องจากขัดต่อป.วิ.พ.มาตรา 205 ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีขาดนัดศาลจะวินิจฉัยคดีให้คู่ความที่มาศาลชนะคดีต่อเมื่อศาลเห็นว่า ข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจชี้ขาดโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาแล้ววินิจฉัยว่ายังไม่เพียงพอรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างมาทั้งหมด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว หาใช่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 ไม่
คำว่า เครื่องหมายนั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2525 หมายความว่า สิ่งที่ทำขึ้นแสดงความหมายเพื่อจดจำหรือกำหนดรู้ ดังนั้นย่อมหมายถึงสิ่งใด ๆ ก็ได้ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความหมายนั้น ซึ่งตามรูปลักษณ์ที่จำเลยทำขึ้นที่แสดงความหมายถึงรูปหัวใจ หากไม่พินิจดูอย่างละเอียดแล้วก็ไม่อาจทราบได้ว่ารูปดังกล่าวประกอบด้วยตัวอักษร C และ D ประกบกันอยู่ เนื่องจากตัวอักษรทั้งสองมีลักษณะไม่เหมือนกับตัวอักษรต่างประเทศ C และ D โดยทั่วไป แต่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแทนความหมายของรูปหัวใจ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่า เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบการค้าของจำเลยอันมีความหมายทำนองเดียวกับคำว่าเครื่องหมายนั่นเองป้ายโฆษณาของจำเลยที่ใช้อักษรย่อว่า “CD” เขียนเป็นรูปลักษณะคล้ายหัวใจและมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “CATHAY DEPARTMENT STORE” ทับข้อความภาษาไทยว่า “คาเธ่ย์ ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” และ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตเปิดบริการถึง 4 ทุ่ม” ต่อท้ายอักษรย่อดังกล่าว จึงเป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศและเครื่องหมายอื่น ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภท (2) ท้าย พ.ร.บ.ป้าย พ.ศ.2510
คดีนี้จำเลยได้รับแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536ครบกำหนดชำระภาษีป้ายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 การเสียเงินเพิ่มร้อยละ 2ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 25 (3) จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไป มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2536 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528มาตรา 17 และ 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 145 (5), 246 และ 247

Share