คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 122 นั้น จะกระทำได้เฉพาะกรณีไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับมา มิใช่หมายถึงว่า จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ผู้ถือจะพึ่งได้รับไป ในกรณีที่จำเลย (ลูกหนี้) เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อผู้ร้องใช้สิทธิขอให้จำเลยโดยผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญา ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2539 โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2535 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 22154 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่ผู้ร้องในราคา 3,200,000 บาท โดยผู้ร้องวางเงินมัดจำเป็นจำนวน 1,700,000 บาท แก่จำเลยและได้ยื่นคำร้องขอปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ผู้ร้องเห็นว่าผู้คัดค้านมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งผู้คัดค้านและสั่งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย โดยให้รับชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท จากผู้ร้องและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลย แล้วให้ผู้คัดค้านจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 22154 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า จำเลยถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 และมีคำพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้คัดค้านได้ยึดที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 22154 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 2 ไร่ 2 ตารางวา เพื่อนำมาขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวโดยอ้างว่าผู้ร้องตกลงจะซื้อจากจำเลยในราคา 3,200,000 บาท และได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 1,700,000 บาท แก่จำเลยแล้ว ส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้ร้องได้ชำระเงินค่ามัดจำจำนวน 1,700,000 บาท ให้แก่จำเลยตามข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่าหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย ร.1 เป็นสำเนาเอกสารต้องห้ามมิให้รับฟังและจำเลยก็มิได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้อง แต่การที่ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยจำเลยยินยอมนั้นถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามข้อตกลงจะซื้อจะขายตามกฎหมายเท่านั้น ผู้ร้องยังไม่ได้ชำระเงินมัดจำดังกล่าวแก่จำเลย โดยผู้คัดค้านมีจำเลยเบิกความว่า ผู้ร้องไม่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยแต่ประการใด ผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยมาตั้งแต่ปี 2535 เท่านั้น ส่วนผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและนางวันเพ็ญ ขำเพ็ง ภริยาผู้ร้องเบิกความว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับผู้ร้องในราคา 3,200,000 บาท ผู้ร้องได้วางเงินมัดจำในวันทำสัญญา 1,200,000 บาท และต่อมาได้ชำระเงินมัดจำอีก 500,000 บาท เงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจะชำระให้หมดภายในปี 2536 ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและหลักฐานการรับเงินเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 หลังจากนั้นผู้ร้องจึงเข้าถมดินทำคันกั้นดิน และปลูกสร้างบ้านไว้ 4 หลัง ตามภาพถ่ายหมาย ร.3 กับขอเลขที่บ้าน ดำเนินการเรื่องขอไฟฟ้าและประปาตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ สำเนาใบเสร็จรับเงินและสำเนาทะเบียนเอกสารหมาย ร.4 ถึง ร.6 เห็นว่า การที่ผู้ร้องได้ปลูกสร้างบ้านและก่อสร้างอาคารอื่นในที่ดินพิพาทในลักษณะมั่นคงถาวรและประกอบธุรกิจในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาอย่างเป็นเจ้าของทั้งในชั้นสอบสวนของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านรับว่าผู้ร้องตกลงจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยจริง เพียงแต่คัดค้านว่าผู้ร้องยังไม่ได้ชำระเงินมัดจำค่าที่ดินจำนวน 1,700,000 บาท ให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อขายและหลักฐานการรับเงินเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 เท่านั้น หากเป็นกรณีที่ผู้ร้องเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยดังที่จำเลยกล่างอ้างมาจำเลยย่อมสามารถนำหลักฐานสัญญาเช่ามาแสดงต่อผู้คัดค้านในชั้นสอบสวนหรือต่อศาลในชั้นพิจารณาให้ปรากฏชัด แต่จำเลยหามีหลักฐานอื่นสนับสนุนไม่ คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยลอยๆ เท่านั้น ไม่มีน้ำหนัก ดังนี้พยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบกับข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านสอบสวนมาจึงมีน้ำหนักรับฟังว่าผู้ร้องตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลยโดยผู้ร้องและจำเลยได้ทำเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายและจำเลยได้รับเงินมัดจำจากผู้ร้องในวันทำสัญญา 1,200,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 และผู้ร้องได้ชำระเงินค่ามัดจำแก่จำเลยอีก 500,000 บาท ตามหลักฐานการรับเงินเอกสารหมาย ร.2 แม้เอกสารหมาย ร.1 จะเป็นสำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ก็เป็นสำเนาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับรองว่าได้ถ่ายมาจากต้นฉบับของสัญญาจะซื้อจะขาย ศาลจึงรับฟังสำเนาเอกสารหมาย ร.1 ประกอบพยานผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (3) ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม) ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังว่าผู้ร้องวางเงินมัดจำค่าที่ดินและชำระเงินค่าที่ดินในครั้งหลังแก่จำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านมีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และชำระเงินค่าที่ดินแก่จำเลยแล้วเป็นเงิน 1,700,000 บาท ผู้ร้องได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์โดยปลูกบ้านและก่อสร้างอาคารอื่นในลักษณะมั่นคงถาวรลงในที่ดินพิพาทและอยู่อาศัยประกอบธุรกิจตลอดมาถึงปัจจุบัน ผู้ร้องยังค้างชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือแก่จำเลยอีก 1,500,000 บาท การที่จำเลยถูกผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา ผู้ดำเนินการยึดที่ดินพิพาทแทนตามรายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 3 สิงหาคม 2542 นั้น ได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 9,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,218,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าราคาที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินมานั้น ได้ถือเอาราคาที่ดินใดมาเป็นเกณฑ์และนายดนัย นิลพัฒน์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้าน เบิกความยอมรับว่าไม่เคยเห็นที่ดินพิพาท ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใด และไม่ทราบว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ยึดที่ดินพิพาทแทนถูกต้องหรือไม่ ทั้งผู้ร้องมีนายวชิร มีแก้ว เจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด มหาชน สาขาถนนมิตรภาพ จังหวัดนครราชสีมา มาเบิกความยืนยันว่าเมื่อปี 2536 พยานเป็นผู้ออกไปดูที่ดินพิพาทเพื่อประเมินราคาการให้สินเชื่อแก่ผู้ร้องซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินดังกล่าว พยานประเมินราคาแล้วที่ดินพิพาทมีราคาประมาณ 3,000,000 บาท และปัจจุบันราคาประมาณ 4,000,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประมาณ 4,000,000 บาท ทั้งผู้ร้องและนายวชิรได้เบิกความยืนยันในทำนองเดียวกันว่าภายหลังจากมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้ว ผู้ร้องได้เข้าไปปรับถมที่ดินและปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และจำเลยได้นัดให้ผู้ร้องไปชำระราคาส่วนที่เหลือและรับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2536 เมื่อถึงวันนัด ผู้ร้องและนายวชิรอยู่จนถึงเวลา 15.45 นาฬิกา จำเลยผิดสัญญาไม่ไปตามนัด ผู้ร้องจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าพนักงานตำรวจให้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนาคำขอและสำเนารายงานประจำวัน เอกสารหมาย ร.7 และ ร.9 โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวและเบิกความยอมรับว่า ต่อมาจำเลยถูกนายพงษ์ศักดิ์ จุฑาศิปารัตน์ ดำเนินคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงโดยกล่าวหาว่า เมื่อปี 2538 จำเลยตกลงจะขายที่ดินพิพาทให้นายพงษ์ศักดิ์ แต่กล่าวข้อความเท็จว่าเป็นโฉนดที่ดินแปลงอื่นแล้วรับเงินมัดจำไปโดยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้นายพงษ์ศักดิ์ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายืนตามศาลแขวงนครราชสีมาในคดีหมายเลขแดงที่ 728/2540 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี ตามสำเนาคำฟ้อง และสำเนาคำพิพากษา เอกสารหมาย ร.18 ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 ประกอบกับผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ปลูกสร้างบ้านและสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินพิพาทอย่างมั่นคงถาวรมา 7 ปี แล้ว ตามภาพถ่ายหมาย ร.3 ผู้ร้องจึงเป็นผู้พัฒนาที่ดินจนทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นประมาณ 4,000,000 บาท ตามทางนำสืบของผู้ร้อง ทั้งการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 นั้น จะกระทำได้เฉพาะกรณีไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับมา มิใช่หมายถึงว่าจะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไปในกรณีที่จำเลย (ลูกหนี้) เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่นนี้ เมื่อผู้ร้องใช้สิทธิขอให้จำเลยโดยผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านในข้ออื่นอีกต่อไป เนื่องจากมิได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้องชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 1,500,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลย แล้วให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องนั้น จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share