แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อคือสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์มีวัตถุประสงค์ ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์
เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้รับทรัพย์คืนและค่าเสื่อมราคารวมถึงค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร มิได้กำหนดให้สัญญาซื้อขายรถยนต์จากการขายทอดตลาดเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ และเอกสารดังกล่าวมิใช่ใบรับสำหรับการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะตามข้อ 28(ค)แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103,104 และ 108 เอกสารดังกล่าวแม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อจนกระทั่งโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ทั้งสองคันคืนได้ในสภาพชำรุด และนำออกประมูลขายได้เงินไม่พอใช้หนี้โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือ ค่าใช้ทรัพย์สำหรับรถยนต์ทั้งสองคัน รวมเป็นเงิน 956,331 บาท ค่าเสื่อมราคาสำหรับรถยนต์ทั้งสองคัน รวมเป็นเงิน 710,347.31 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,666,678.31บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การให้เช่าซื้ออยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความโจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 580,700บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสื่อมราคาสำหรับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-5990 นนทบุรี เป็นเงิน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 544,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 อ้างว่า การให้เช่าซื้อของโจทก์มิได้กระทำการภายในขอบวัตถุประสงค์ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.1 วัตถุประสงค์ของโจทก์ข้อ 4 มีข้อความว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า ขายฝาก… และ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคแรก บัญญัติว่า อันว่าเช่าซื้อนั้นคือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวจึงเห็นได้ว่า สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น ซึ่งก็อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่จะขายและให้เช่า การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ จึงเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า รถยนต์คันแรก จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 19 ซึ่งถึงกำหนดในวันที่ 11 ธันวาคม 2533 ส่วนรถยนต์คันหลัง จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 12ซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 10 มีนาคม 2534 และไม่ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันตลอดมาอันเป็นการผิดสัญญา ทำให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโจทก์มีสิทธิเรียกค่าใช้ทรัพย์ตลอดระยะเวลาดังกล่าว และค่าเสื่อมราคารวมถึงค่าเสียหายในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ในกรณีเช่นนี้ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการสุดท้ายที่ว่าเอกสารหมาย จ.13 และจ.18 มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงไม่สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้นั้น เห็นว่าบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร มิได้กำหนดให้สัญญาซื้อขายรถยนต์จากการขายทอดตลาดเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ และเอกสารดังกล่าวมิใช่ใบรับสำหรับการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ยานพาหนะตามข้อ 28(ค)แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์อันจะถือว่าเป็นตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 108 เอกสารดังกล่าวแม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 525,600 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์