คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจกท์ประมาณ 50,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 หยุดชำระดอกเบี้ยดังกล่าว โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้มากรอกข้อความในภายหลังเกินกว่าความเป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 1 กันยายน 2539 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่นำต้นเงินมาชำระให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี 2538 จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 20,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน โดยจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์มาตลอดเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท จนถึงปี 2540 จำเลยทั้งสองจึงไม่ชำระ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมากรอกข้อความแล้วนำมาฟ้องจำเลยทั้งสอง สัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยและต้นเงินคืนภายในวันที่ 1 กันยายน 2539 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ ส่วนจำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และให้จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือในแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์จนถึงต้นปี 2550 รวมเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระอีก โจทก์จึงนำแบบพิมพ์สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมากรอกข้อความ เห็นว่า โจทก์เบิกความยอมรับว่านอกจากโจทก์มีอาชีพค้าขายแล้ว ยังให้ผู้ที่รู้จักกู้ยืมเงินและมีคดีที่โจทก์ฟ้องผู้กู้ยืมเงินต่อศาลชั้นต้นอีกประมาณ 50 คดี แสดงว่าโจทก์มีอาชีพออกเงินกู้รายใหญ่ ย่อมต้องเรียกเอาดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นปกติวิสัย จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะไม่เร่งรัดให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญา เพราะตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีแก่ผู้ให้กู้ทุกเดือน นับแต่วันทำสัญญาปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อครบกำหนดแล้ว โจทก์ก็ปล่อยปละละเลยไม่ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินเลยนับแต่วันกู้ถึงวันฟ้องคดีครั้งแรกเป็นเวลา 2 ปีเศษ หลังจากโจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้วก็ไม่รีบดำเนินการฟ้องร้องเพื่อบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยทั้งสองเป็นคดีใหม่ กลับปล่อยปละละเลยต่อมาอีกจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลารวมกันยาวนานถึง 5 ปีเศษ นอกจากเป็นการผิดวิสัยของผู้มีอาชีพออกเงินกู้รายใหญ่ที่จะต้องเร่งรัดให้ผู้กู้ชำระดอกเบี้ย และต้นเงินตามสัญญาโดยเคร่งครัดแล้ว ยังได้ความจากโจทก์เบิกความในคดีหมายเลขแดงที่ 419/2542 ของศาลชั้นต้นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2051/2544 ว่าเงินที่โจทก์นำมาให้ลูกหนี้กู้ยืมนั้นโจทก์กู้ยืมมาจากธนาคาร เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จึงเป็นข้อผิดวิสัยอีกประการหนึ่งของโจทก์ที่จะยอมกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยสูงและมาปล่อยให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินโดยได้ดอกเบี้ยอัตราต่ำกว่ากันถึงร้อยละ 3 พยานหลักฐานของโจทก์จึงเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนัก เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วพยานจำเลยทั้งสองดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ประมาณ 50,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 หยุดชำระดอกเบี้ยดังกล่าว โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้มากรอกข้อความในภายหลังเกินกว่าความเป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขี้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง

Share