คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1หนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดดังนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวและแจ้งถึงค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ก่อนฟ้องคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถไปในทางการที่จ้าง ชนรถโจทก์เสียหายและโจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถรวมเป็นเงิน 348,610 บาทจึงขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับก่อนที่จะนำคดีมาฟ้อง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 276,610 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาข้อแรกที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้แจ้งถึงค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 ทราบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้าง จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 หนี้ในคดีนี้เป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดตามมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการฟ้องจำเลยที่ 2 นายจ้างให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามและแจ้งถึงค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ก่อน และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 200,610 บาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,610 บาทแก่โจทก์

Share