คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องกับสามีจองซื้อบ้านและที่ดินไว้ ต่อมา อ.สามีทิ้งร้างไปผู้ร้องไม่อาจกู้เงินและจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินที่จองไว้ จึงร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ อ. จัดการขอกู้เงินพร้อมกับจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินไว้กับบริษัท ค.และอนุญาตให้อ. จัดการโอนสิทธิการจองบ้านและที่ดินดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอกต่อไป ดังนี้ เป็นการยื่นคำร้องขอแทน อ.โดยที่อ. มิได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องกระทำการแทน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอดังกล่าวได้
คำว่า”อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1478 นั้น หมายความถึงให้ฝ่ายที่ต้องการได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มีเหตุขัดข้องตามที่บัญญัติไว้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการเกี่ยวกับสินสมรสแต่ฝ่ายเดียวแทนการให้ความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้ มิใช่ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องแทน อ.โดยอ.มิได้มอบอำนาจไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอุทร เสงี่ยม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2524 ผู้ร้องและนายอุทรเสงี่ยม ได้ร่วมกันจองซื้อบ้านและที่ดินจากบริษัทเคหะนคร จำกัด ราคา205,000 บาท ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างผู้จองกับบริษัทเคหะนคร จำกัดนั้น เมื่อผู้จองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขาย พร้อมทั้งวางเงินมัดจำจำนวน20,500 บาท และชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้ว บริษัทเคหะนครจำกัด จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินที่จองให้ และในขณะเดียวกันผู้จองจะต้องขอกู้เงินพร้อมกับจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินที่จองไว้เป็นประกันเงินกู้กับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์กรุงเทพเคหะ จำกัด โดยเงินกู้ที่ผู้จองได้รับนั้นบริษัทเคหะนคร จำกัด จะเป็นผู้รับไปทั้งหมดเพื่อเป็นค่าบ้านและที่ดินที่จอง จากนั้นผู้จองจะต้องผ่อนชำระเงินจำนองเป็นรายเดือนเดือนละ 3,225 บาท 66 สตางค์ เป็นเวลา 15 ปี ให้แก่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กรุงเทพเคหะ จำกัด เป็นการปลอดจำนองต่อไป แต่หลังจากที่ผู้ร้องกับนายอุทร เสงี่ยม ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินดังกล่าวกับบริษัทเคหะนคร จำกัด แล้ว นายอุทร เสงี่ยมได้ทิ้งร้างผู้ร้องไปผู้ร้องไม่อาจจะทำการกู้เงินและจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินที่จองไว้กับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กรุงเทพเคหะ จำกัด และไม่อาจจะโอนสิทธิการจองบ้านที่ดินตามคำร้องให้กับบุคคลภายนอกได้หากไม่ได้รับความยินยอมเว้นแต่นายอุทร เสงี่ยม จะได้รับคำสั่งอนุญาตจากศาลให้จัดการดังกล่าวนั้นเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ ผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นายอุทร เสงี่ยม จัดการขอกู้เงินพร้อมกับจดทะเบียนจำนองบ้านและที่ดินตามคำร้องไว้กับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กรุงเทพเคหะ จำกัด และอนุญาตให้นายอุทร เสงี่ยมจัดการโอนสิทธิการจองบ้านและที่ดินดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอกต่อไป

ศาลชั้นต้นตรวจพิจารณาคำร้องขอแล้ว มีคำสั่งว่า กรณีเป็นเรื่องสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับนายอุทร เสงี่ยม เงินจำนวนที่ผู้ร้องจะได้รับตามคำร้องไม่ปรากฏว่านายอุทร เสงี่ยม ไม่ติดใจรับ กรณีจึงไม่เข้ามาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่รับคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลแก่ผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการกู้เงินจดทะเบียนจำนอง และโอนสิทธิการจองบ้านและที่ดินให้บุคคลภายนอกแทนนายอุทร เสงี่ยม แต่กลับขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้นายอุทร เสงี่ยม กระทำการดังกล่าวแล้วโดยนายอุทร เสงี่ยม มิได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องกระทำการแทนกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้นายอุทร เสงี่ยม สามีผู้ร้องจัดการทำนิติกรรมตามคำร้องขอนั้นได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีตามคำร้องขอ เมื่อผู้ร้องไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการเกี่ยวกับการทำนิติกรรมตามคำร้องขอได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนายอุทรเสงี่ยม สามีแต่เป็นการยื่นคำร้องขอแทนนายอุทร เสงี่ยม โดยที่นายอุทรเสงี่ยม มิได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องกระทำการแทน ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจโดยชอบตามกฎหมายที่จะยื่นคำร้องขอดังกล่าวนั้นได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิจะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นายอุทร เสงี่ยม สามีของผู้ร้องจัดการเกี่ยวกับทรัพย์อันเป็นสินสมรสได้ตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พุทธศักราช 2519 มาตรา 1478 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่สามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจัดการเกี่ยวกับสินสมรสร่วมกัน แต่กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอม หรือไม่ยอมลงชื่อโดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้ซึ่งความหมายของคำว่า “อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้” นั้นหมายความถึงให้ฝ่ายที่ต้องการได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่มีเหตุขัดข้องตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องจัดการเกี่ยวกับสินสมรสแต่ฝ่ายเดียวแทนการให้ความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้ จึงหาใช่หมายความว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอแทนนายอุทร เสงี่ยม โดยที่นายอุทร เสงี่ยม ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแทนดังฎีกาผู้ร้องไม่ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

Share