คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือค้ำประกันได้ทำหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไปให้จำเลยทั้งสองลงชื่อต่อหน้า ศ.ที่จังหวัดระนอง เสร็จแล้วจึงนำกลับไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นจังหวัดที่โจทก์มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายย่อมสมบูรณ์ทันทีที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อ ปรากฏว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่พิพาทที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาของโจทก์ดังนี้ต้องถือว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ในการทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 69 และจังหวัดสุราษฎร์ธานีย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อที่พิพาทต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) และมาตรา 5 อายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 ต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้อยู่ หรือเป็นกรณีเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่ คดีนี้ได้ความว่า หลังจากโจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนได้แล้วได้นำรถไปขายทอดตลาด เมื่อนำเงินที่ขายทอดตลาดได้ไปหักออกจากเงินลงทุนแล้วเงินยังขาดอยู่ ดังนี้เงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วและเป็นราคารถที่ยังขาดอยู่ กรณีไม่ต้องด้วยอายุความหกเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 แต่ต้องใช้อายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 354,672 บาท แยกเป็นเงินลงทุน 236,448 บาท ค่าตอบแทนการเช่าซื้อ 118,224 บาทตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 7,389 บาท รวม 48 เดือนเริ่มผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 และงวดต่อไปทุกวันที่ 25 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 7เป็นต้นไป โจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาและนำรถออกประมูลขายได้เงิน 166,335.15 บาท โจทก์ขอคิดราคารถส่วนที่ขาดเป็นเงิน 53,223.72 บาท ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน51,250 บาท และค่าติดตามรถ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 107,473.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปแล้ว จำเลยที่ 1ใช้รถตามปกติ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดค่าขาดราคาเช่าซื้อเนื่องจากการที่รถเสื่อมสภาพไปจำนวน 53,223.72 บาท โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่จำเลยที่ 1ส่งคืนรถ จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเพียง 8,989.72 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 60,500 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3ฟังข้อเท็จจริงว่า นายศักดา วัฒนนุพงศ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ได้ทำหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไปให้จำเลยทั้งสองลงชื่อต่อหน้านายศักดาที่จังหวัดระนองเสร็จแล้วจึงนำกลับไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นจังหวัดที่โจทก์มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อซึ่งกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายย่อมสมบูรณ์ทันทีเมื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อ ปรากฏว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาของโจทก์ต้องถือว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นภูมิลำเนาของโจทก์ในการทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69และจังหวัดสุราษฎร์ธานีย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)และมาตรา 5
ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การฟ้องเรียกเงินค่าขาดราคาเช่าซื้อมีอายุความเพียงใด เห็นว่า อายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 563ต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้อยู่หรือเป็นกรณีเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า หลังจากโจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืนไปแล้ว ได้นำรถไปขายทอดตลาด เมื่อนำเงินที่ขายทอดตลาดได้ไปหักออกจากเงินลงทุนคงค้างยังขาดอยู่ 53,223.72 บาทเงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วและเป็นราคารถที่ยังขาดอยู่ กรณีไม่ต้องด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share