แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่2เป็นสารวัตรใหญ่และจำเลยที่3เป็นพนักงานสอบสวนคนทั้งสองต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่1การที่จำเลยที่2และที่3ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่1และจำเลยที่1มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่2และที่3ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหายเมื่อจำเลยที่2และที่3ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่1จำเลยที่2และที่3จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนแต่เมื่อจำเลยที่2และที่3ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควรเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายกรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่1ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา76วรรคหนึ่งจำเลยที่1จึงต้องร่วมกับจำเลยที่2และที่3รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วยจะอ้างว่าตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประเภทไม่ประจำทาง ขนาด 65 ที่นั่ง หมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยเป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งซึ่งเป็นหน่วยราชการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นสารวัตรใหญ่ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เวลา 6.10 นาฬิกา เกิดอุบัติเหตุรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์พลิกคว่ำที่บริเวณสะพานลอยยมราช หน้าโรงพยาบาลมิชชั่น ถนนพิษณุโลกแขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จำเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้รับแจ้งเหตุและได้รับแจ้งคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีจราจร พร้อมทั้งยึดรถยนต์โดยสารดังกล่าวของโจทก์ไว้เป็นของกลางของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ ปราศจากความระมัดระวังได้ปล่อยปละละเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลรักษารถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์สูญหายไปเมื่อวันที่9 มิถุนายน 2535 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1ในฐานะนายจ้างและตัวการซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดูแลควบคุมให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบวิธีการของข้าราชการตำรวจ ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมบังคับบัญชา จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3และได้ร่วมกันกระทำการดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานครคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยหากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,050,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 227,500 บาท และค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 45,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์หรือชดใช้ราคา
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัว เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อันเป็นเหตุพิพาทจำเลยที่ 2กระทำในหน้าที่ในฐานะสารวัตรใหญ่ ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำในหน้าที่ราชการในฐานะพนักงานสอบสวน และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ในตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพราะขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่ของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งแล้วจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวการหรือนายจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เหตุที่เกิดมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้ยึดรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ไว้เป็นของกลางในคดีของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ทั้งนี้เพราะรถยนต์ของโจทก์ได้รับอุบัติเหตุและไม่สามารถยกลากไปเก็บรักษาที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้เนื่องจากสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งถูกเพลิงไหม้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือดูแลทรัพย์สิน ทั้งไม่อาจนำไปเก็บรักษา ณ ที่ทำการชั่วคราวที่วังปารุสกวันได้ เนื่องจากห่างจากที่เกิดเหตุและไม่สามารถนำผ่านประตูได้ ทั้งมีข้อตกลงภายในห้ามนำรถยนต์ของกลางทุกชนิดไปเก็บรักษาในวังปารุสกวัน จำเลยที่ 3 จึงเพียงแต่แจ้งอายัดการต่อภาษีประจำปีต่อนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานครเพื่อมิให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถจนกว่าจะได้มีการตรวจสภาพรถและได้มีการเจรจาค่าเสียหายกันเรียบร้อยแล้วเท่านั้นและในระหว่างนั้นจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้โจทก์และตัวแทนโจทก์ทราบ เพื่อให้โจทก์จัดหาคนมาเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินในรถและรถยนต์ของโจทก์เอง ซึ่งโจทก์ได้จัดหาคนมาเฝ้าดูแลรถยนต์ของโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2535 ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 5 มิถุนายน 2535 รถยนต์ของโจทก์มิได้อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แต่อยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ และโจทก์ให้คนมายกลากรถไปจากที่จอดเอง มิใช่เป็นการสูญหาย จำเลยที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะสารวัตรใหญ่ของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งก็ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลรักษารถยนต์ของโจทก์เพราะมิได้มีการยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้เป็นของกลาง ทั้งไม่มีการลงบันทึกประจำวันและไม่ได้นำรถยนต์ดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งหรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด และจำเลยทั้งสามไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับรถยนต์ของโจทก์แต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบการตำรวจในการปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลางให้ข้าราชการตำรวจทุกคนยึดถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดทั้งได้กำหนดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุมดูแลการบังคับบัญชาให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวตามลำดับชั้นแล้วทั้งจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับรถยนต์ของโจทก์จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวหรือชดใช้ราคารถยนต์จำนวน 1,050,000 บาท ให้แก่โจทก์ ราคารถยนต์ที่โจทก์เรียกมาสูงเกินความเป็นจริง โจทก์ได้รับประโยชน์จากการใช้รถยนต์อย่างสูงไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และมีระยะไม่เกิน 1 ปีและโจทก์จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน2535 ไม่ได้ เพราะวันดังกล่าวรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้การได้และต้องใช้เวลาซ่อมเกินกว่า 1 เดือนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานคร คืนโจทก์ตามสภาพขณะที่ยึดหากส่งมอบคืนให้ไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาทให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 400,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จหรือส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทได้สูญหายไประหว่างที่จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นของกลาง และจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษารถยนต์พิพาทของกลางโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ไม่จัดการนำรถยนต์พิพาทของกลางมาเก็บรักษาไว้ที่สถานตำรวจหรือสถานที่อื่นและมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถยนต์พิพาทเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไปจึงถือเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3และการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการที่สองมีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ต่างก็เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนแต่เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหาย กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดฐานในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วย จะอ้างว่าตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้
พิพากษายืน