คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1837/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บิดาเด็กชาย บ. โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบิดาเด็กชาย ว. ผู้ทำละเมิดต่อผู้เยาว์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลมูลละเมิดที่เด็กชาย ว. ก่อขึ้นหามีผลระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นโมฆะไม่และไม่มีผลผูกพันเด็กชาย บ. โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับเงินค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ร่วมชดใช้ค่าเสียหายอีก พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในชั้นนี้มีปัญหาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ปรากฏว่านายทวี ด่านหนา บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายบุญเรือง ด่านหนา ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายอึ่ง วรรณศิริ บิดาของเด็กชายวิทยา วรรณศิริ รับเงินค่าเสียหาย3,800 บาทจากนายอึ่งไปในวันทำสัญญาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการทำละเมิดต่อผู้เยาว์ อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกันซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมต้องขออนุญาตศาลเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574(8) แต่ปรากฏว่านายทวี ด่านหนา บิดาโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว มูลละเมิดที่เด็กชายวิทยาก่อขึ้นหามีผลระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นโมฆะไม่ และไม่มีผลผูกพันเด็กชายบุญเรืองโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”

พิพากษายืน

Share