แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมศุลกากรโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าธรรมเนียมล่วงเวลาเนื่องจากจำเลยเป็นผู้จำหน่ายด้วยการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่อากาศยาน การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งแก่อากาศยานซึ่งผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยานหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องค่าธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 110จำเลยเป็นเพียงบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันให้แก่บริษัทสายการบิน มีหน้าที่บริการเติมน้ำมันให้แก่อากาศยานซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเท่านั้น มิใช่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมอากาศยานจึงมิใช่นายเรือ และไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนนายเรือตามบทบัญญัติมาตรา 110 ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาในการเติมน้ำมันแก่อากาศยานให้แก่โจทก์
เมื่อตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา110 ซึ่งเป็นที่มาของกฎกระทรวง ฉบับที่ 73 (พ.ศ.2521) อันเป็นกฎกระทรวงที่ให้ใช้ใบแนบ ศ.3 ซึ่งเป็นบัญชีเดียวกับอัตราค่าธรรมเนียมล่วงเวลา บัญญัติให้เฉพาะนายเรือหรือตัวแทนหรือทั้งสองคนร่วมกันเท่านั้นที่มีหน้าที่รับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าว การที่หัวเรื่องของใบแนบ ศ.3 ใช้คำว่า “ผู้ค้า”จึงไม่เป็นเหตุทำให้บุคคลอื่นนอกเหนือจากนายเรือหรือตัวแทนมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมล่วงเวลาไปด้วย ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำคำว่า “ผู้ค้า”ดังกล่าวมาใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาดังกล่าวจากจำเลย
ในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีของศาลนั้น เมื่อศาลเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อใดข้อหนึ่งขึ้นวินิจฉัยได้ และเมื่อได้วินิจฉัยประเด็นข้อใดแล้วทำให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป