แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือคอสแมน 1 และปรากฏตามใบตราส่งสินค้าว่าบริษัทเอฟ.เอช.เบิร์ตเทิลลิ่งเกเซลล์ชาฟต์เอ็ม.บี.เอช. จำกัด ในฐานะตัวแทนของผู้ขนส่งคือบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งทั้งสองฉบับดังกล่าว ใบตราส่งเป็นเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของและเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเสียหายเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัยภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเล การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่านายเรือคอสแมน 1 ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้และคำแปลเอกสารโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนทั้งไม่ปรากฏว่าตัวเรือหรือสิ่งของในเรือได้รับความเสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัย ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง แม้โนตารีปับลิกของประเทศไทยจะได้ลงชื่อรับรองในหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลของนายเรือ ก็มีหน้าที่รับรองแต่เพียงว่านายเรือคอสแมน 1 ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้เท่านั้น ส่วนข้อความในหนังสือดังกล่าวจะตรงกับความจริงหรือไม่ โนตารีปับลิกไม่อาจให้การรับรองหรือยืนยันได้เพราะไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นายเรือประสบมาจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งต่อผู้รับตราส่งโจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,437,494.20 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,373,701.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,373,701.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 63,792.45 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อคอสแมน 1 เรือลำนี้บรรทุกสินค้ากระดาษหนังสือพิมพ์ออฟเซต ขนาด 30 นิ้ว และ 33 นิ้ว หนัก 499,932 เมตริกตัน และกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาด 30 นิ้ว หนัก489,756 เมตริกตัน มาจากท่าเรือโนโวโรสซียสค์ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มาถึงเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538 จากนั้นได้ขนถ่ายสินค้าดังกล่าวจากเรือคอสแมน 1 ลงเรือลำเลียงจำนวน 3 ลำ เพื่อนำสินค้าไปส่งมอบให้บริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่งที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวบางส่วนได้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งรับประกันภัยสินค้านั้นไว้ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือคอสแมน 1 และปรากฏตามใบตราส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ว่า บริษัทเอฟ.เอช.เบิร์ต เทิลลิ่ง เกเซลล์ชาฟต์ เอ็ม.บี.เอช. จำกัด ในฐานะตัวแทนของผู้ขนส่งคือบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งทั้งสองฉบับดังกล่าวใบตราส่งเป็นเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของและเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ไม่ใช่เอกสารของจำเลยที่ 1 และบริษัทเอฟ.เอช.เบิร์ต เทิลลิ่ง เกเซลล์ชาฟต์ เอ็ม.บี.เอช.จำกัด ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ให้ผู้อื่นเช่าเรือคอสแมน 1 ไปแล้วตามสัญญาเช่าเรือ เอกสารหมาย ล.3 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและคำเบิกความของนายปัญญา จงวิลาส ที่อ้างลอย ๆ ว่า บริษัท เอฟ.เอช.เบิร์ต เทิลลิ่ง เกเซลล์ชาฟต์ เอ็ม.บี.เอช. จำกัด ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ข้อความในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และที่นายปัญญาเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ให้บริษัท โกลเบิลคอนเทนเนอร์ไลนส์ (บาฮามาส) จำกัด เช่าเรือคอสแมน 1 ไปตามสัญญาเช่าเรือ โดยมีกำหนดระยะเวลา (Time Charter) พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.3 นั้น นายปัญญายอมรับว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาเช่าเรือดังกล่าว และบริษัทโกลเบิลคอนเทนเนอร์ไลนส์ (บาฮามาส) จำกัด ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าฉบับนี้ คงมีแต่ลายมือชื่อของบริษัทคอนดอสมารีน เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของเรือและนายหน้าในการเช่าเรือเท่านั้นที่ลงชื่อไว้ฝ่ายเดียวในข้อตกลงแนบท้ายสัญญาเช่าเรือดังกล่าวเอกสารหมาย จ.24 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าที่ขนส่งเสียหายเนื่องจากหรือเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัย ภยันตราย หรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งจนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้หรือไม่เห็นว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเสียหายเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัย ภยันตราย หรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเล การที่จำเลยที่ 1 นำสืบแต่เพียงว่านายเรือคอสแมน 1 ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้ตามเอกสารหมาย ล.6 และคำแปลเอกสารหมาย ล.7 ว่า ในระหว่างการดำเนินการของเที่ยวเดินทางและเมื่อวันที่ 15 ถึง 22 กรกฎาคม 2538 เรือคอสแมน 1 ได้เผชิญกับสภาวะอากาศเลวร้ายด้วยกำลังลมแรงถึงระดับ 9 ตามมาตราบิวฟอร์ต (Beaufort Scale) ทะเลมีคลื่นจัดและสูงมาก ทำให้เรือโคลงและถูกน้ำซัดอย่างหนัก แต่ไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นสนับสนุนทั้งไม่ปรากฏว่าตัวเรือหรือสิ่งของในเรือได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากเหตุสุดวิสัย ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในอุทธรณ์ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโนตารีปับลิกของประเทศไทยได้ลงชื่อรับรองในหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลของนายเรือตามเอกสารหมาย ล.6 ไว้ด้วย แสดงว่าโนตารีปับลิกได้สอบสวนแล้วเห็นว่าเป็นความจริงจึงลงชื่อรับรองให้นั้น เห็นว่า โนตารีปับลิกมีหน้าที่รับรองแต่เพียงว่านายเรือคอสแมน 1 ได้ทำหนังสือปฏิเสธความรับผิดชอบทางทะเลไว้ตามเอกสารหมาย ล.6 เท่านั้น ส่วนข้อความในหนังสือดังกล่าวจะตรงกับความจริงหรือไม่ โนตารีปับลิกไม่อาจให้การรับรองหรือยืนยันได้เพราะโนตารีปับลิกมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นายเรือประสบมาดังกล่าวข้อเท็จจริงมิได้เป็นดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งต่อผู้รับตราส่ง โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าใด โจทก์มีนางสาวศศิวิมล เจริญทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายสินไหมขนส่งของทางทะเลของโจทก์เบิกความเป็นพยานว่าเมื่อเรือคอสแมน 1 เดินทางมาถึงท่าเรือเกาะสีชังได้มีการขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งจากเรือคอสแมน 1 ลงเรือลำเลียง เพื่อนำสินค้าดังกล่าวมาส่งที่คลังสินค้าของผู้รับตราส่งที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างการขนถ่ายสินค้าได้ตรวจพบว่าสินค้าดังกล่าวเปียกน้ำและแกนม้วนกระดาษแฟบ โจทก์จึงให้บริษัทแอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอร์เวเยอรส์(ไทยแลนด์) จำกัด ไปสำรวจความเสียหายผลการสำรวจได้ความจากนายเกรียงศักดิ์พรรณโรจน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวว่า พยานได้ไปสำรวจความเสียหายที่เรือคอสแมน 1 ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ที่เกาะสีชังและสำรวจที่คลังสินค้าของบริษัทจตุภัณฑ์เปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่งที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการพบว่าสินค้าเปียกน้ำทะเลจำนวน 446 ม้วน และแกนม้วนกระดาษแฟบจำนวน 17 ม้วนตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายปัญญา จงวิลาส ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 ยอมรับในเรื่องนี้ว่าเมื่อขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งลงเรือลำเลียงเสร็จพบว่าสินค้าดังกล่าวเปียกน้ำและสิ่งห่อหุ้มฉีกขาดจำนวนหนึ่งข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าสินค้านั้นเกิดการเสียหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 จริงที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าสินค้าดังกล่าวเสียหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 จำนวนเพียง 177 ม้วน ตามรายงานสรุปความเสียหายเอกสารหมาย ล.1 และ ล.5 ความเสียหายนอกเหนือจากนี้เกิดขึ้นจากการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือลำเลียงสู่ท่าและนำขึ้นรถยนต์บรรทุกไปยังคลังสินค้าของผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายส่วนนี้นั้น ปรากฏตามคำเบิกความของนายปัญญาและรายงานสรุปความเสียหายเอกสาร ล.1 ว่า รายงานสรุปความเสียหายเอกสารหมาย ล.1 เป็นรายงานที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นเพียงให้นายเรือลงชื่อแต่นายเรือไม่ยอมลงชื่อในรายงานดังกล่าวรายงานสรุปความเสียหายฉบับนี้จึงรับฟังไม่ได้ส่วนรายงานการสำรวจเอกสารหมาย ล.5 ที่บริษัทอิมโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำรายงานนั้นได้ความจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้บริษัทอิมโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สำรวจ และปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ว่า บริษัทดังกล่าวทำการสำรวจขณะที่สินค้าอยู่ในเรือคอสแมน 1 การสำรวจความเสียหายขณะที่สินค้าอยู่ในเรือเช่นนี้ย่อมไม่แน่นอน จำเลยที่ 2 จึงระบุไว้ในตอนท้ายของรายงานสรุปเอกสารหมาย ล.1 ว่าไม่ทราบจำนวนของสินค้าที่เปียกน้ำ จะต้องตรวจอีกครั้งหนึ่งระหว่างขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือลำเลียง ณ คลังสินค้าของผู้รับตราส่ง ซึ่งผลการสำรวจความเสียหายตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.5 ดังกล่าวต่างกับการสำรวจความเสียหายของบริษัทแอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอร์เวเยอรส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.9 ที่ทำการสำรวจ ณ ที่เรือคอสแมน 1 และได้ตรวจนับสินค้าที่เสียหายระหว่างขนถ่ายจากเรือลำเลียงเข้าเก็บในคลังสินค้าของผู้รับตราส่ง ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเปียกน้ำทะเลทั้งหมด จำนวน 446 ม้วน และแกนม้วนกระดาษแฟบอีกจำนวน 17 ม้วน ตามที่โจทก์นำสืบ ไม่ใช่เสียหายจำนวนเพียง 177 ม้วน ดังที่จำเลยที่ 1 นำสืบและอุทธรณ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน