แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จัดให้ลูกจ้างขับรถขนส่งเป็นกะ กะละ 24 ชั่วโมง แล้วหยุดในวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบแล้วเห็นว่าขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ประกาศเวลาทำงานปกติของลูกจ้างให้ถูกต้อง โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จำเลยให้การว่าคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ เพียงใด แล้ววินิจฉัยว่างานของโจทก์เป็นงานขนส่งทางบกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 และมาตรา 23 ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 2 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง โจทก์ให้ลูกจ้างขับรถขนส่งทำงานติดต่อกันถึงวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่นอกฟ้องนอกประเด็นชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้” การที่โจทก์ให้ลูกจ้างทำงานกะละ 24 ชั่วโมง แล้วโจทก์ให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนเพียง 24 ชั่วโมงด้วย แล้วถือเอาว่าการให้หยุดพักผ่อนเพียง 24 ชั่วโมงนี้เท่ากับจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วไม่น้อยกว่า 1 วัน จึงเป็นการไม่ได้กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกซึ่งกำหนดวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, มาตรา 28 วรรคหนึ่ง และกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พื้นที่ 7 ที่ 17/2547
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนและพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาประการแรกตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์จัดให้ลูกจ้างขับรถขนส่งทำงานเป็นกะ กะละ 24 ชั่วโมง แล้วหยุดในวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง จำเลยได้เข้าตรวจสอบสภาพการจ้างและการทำงาน ณ สถานประกอบกิจการของโจทก์แล้ว เห็นว่าขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 และกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งที่ 17/2547 ให้โจทก์ประกาศเวลาทำงานปกติของลูกจ้างเสียใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายข้างต้น ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จำเลยให้การยืนยันว่าคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ศาลแรงงานกลางจึงได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันแล้ววินิจฉัยว่า งานของโจทก์เป็นงานขนส่งทางบกตามความหมายในกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 1 โจทก์จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 มาตรา 23 และกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ทั้งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง เมื่อโจทก์กำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างขับรถขนส่งเป็น 2 กะ กะละ 24 ชั่วโมง ก็เท่ากับว่าโจทก์ให้ลูกจ้างขับรถขนส่งทำงานปกติติดต่อกันถึงวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนนั้น จึงมิได้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว ไม่นอกฟ้องนอกประเด็นแต่ประการใด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 7 ที่ 17/2547 ของจำเลยเกี่ยวกับวันหยุดประจำสัปดาห์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 ระบุให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง ดังนั้น การทำงานตามปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งทำงานต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง เนื่องจากวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง เมื่อทำงาน 8 ชั่วโมง จะมีเวลาพักผ่อน 16 ชั่วโมง และในหนึ่งสัปดาห์จะต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์อีกไม่น้อยกว่า 1 วัน การที่โจทก์ให้ลูกจ้างทำงานกะละ 24 ชั่วโมง แล้วโจทก์ให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้นด้วย ทั้งถือเอาว่าการให้หยุดพักผ่อนเพียง 24 ชั่วโมงนี้ เท่ากับได้จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์แล้วไม่น้อยกว่า 1 วัน จึงเป็นการไม่ได้กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกซึ่งกำหนดวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน ย่อมไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 7 ที่ 17/2547 ของจำเลยเกี่ยวกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 139 (3) จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.