แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันหนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/27และมาตรา745บัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่าแม้หนี้ที่ประกันหรือหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ยังบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้แต่ดอกเบี้ยที่ค้างให้คิดย้อนหลังขึ้นไปได้เพียงห้าปีหากหนี้ประธานไม่ขาดอายุความสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็มีกำหนดอายุความห้าปีเช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/33(1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2537ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 284,966.11 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เกิดจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอนนี่บาร่า โดยลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันไว้แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ที่ 2จึงต้องผูกพันรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดแอนนี่บาร่าทั้งหมดอย่างไม่จำกัดจำนวน เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดแอนนี่บาร่าเป็นหนี้เจ้าหนี้ โดยคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2537 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ตามที่ขอนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2537 ถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด(9 มีนาคม 2537) และหักด้วยเงินที่ได้รับชำระหนี้แล้วเป็นเงิน260,771.99 บาท และเป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน260,771.99 บาท เห็นสมควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน260,771.99 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 55885, 55886 และ 55887 ตำบลสีกันอำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีนับแต่วันทำสัญญาจำนองจนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่เจ้าหนี้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังได้เพียง 5 ปี เป็นเงิน31,250 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81,250 บาท ก่อน หนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ได้รับชำระจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 อย่างเจ้าหนี้สามัญ ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดแอนนี่บาร่าหรือนายสมชัย หล่อไพบูลย์ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเป็นเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน2537 อันเป็นวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 18พฤศจิกายน 2533 โดยให้หักดอกเบี้ยที่คิดคำนวณได้จากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ออกเสียก่อนสำหรับหนี้ส่วนที่ยังขาดและเงื่อนไขในการได้รับชำระหนี้จากบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าหนี้ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาเจ้าหนี้เพียงว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญาจำนองวงเงิน 50,000 บาท ต้องคิดให้นับแต่วันทำสัญญาจำนอง (7 กันยายน 2520) จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (9 มีนาคม 2537) หรือว่ามีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเพียง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 และมาตรา 745 โดยเจ้าหนี้ฎีกาว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อเจ้าหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้”และมาตรา 193/27 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ฯลฯ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง ฯลฯ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”ย่อมมีความหมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระสำหรับหนี้ประธานที่ขาดอายุความแล้ว สำหรับหนี้ประธานที่ยังไม่ขาดอายุความย่อมสามารถคิดดอกเบี้ยเกินห้าปีได้ ซึ่งหนี้ของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีได้นั้น เห็นว่าการจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นประกันหนี้ กฎหมายบทดังกล่าวบัญญัติเป็นข้อยกเว้นว่า แม้หนี้ที่ประกันหรือหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ยังบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ แต่ดอกเบี้ยที่ค้างให้คิดย้อนหลังขึ้นไปได้เพียงห้าปี หากหนี้ประธานไม่ขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระก็มีกำหนดอายุความห้าปีเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์คิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้ย้อนหลังไปมีกำหนดห้าปีนั้นชอบแล้ว ฎีกาเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน