คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับพวกติดตามผู้เสียหายไปในลักษณะทันที ถือว่าผู้เสียหายยังไม่หลุดพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก ดังนั้น การกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 ทั้งสองครั้งจึงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ในวาระเดียวกันโดยเจตนาเดิมไม่ขาดตอนจากกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 310, 317
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันพรากพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และข้อหาร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน แต่ให้การปฏิเสธข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าร่วมกันพรากพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง แต่ไม่ได้กระทำเพื่อการอนาจาร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง, 310 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 283 ทวิ วรรคสอง, 310 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและยาวชนจังหวัดตรังแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และ 75 ตามลำดับ สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารด ผู้ปกครอง เพื่ออนาจาร และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 12 เดือน แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็ยังเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน แต่เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยกระทำผิดอาญามาก่อน เพิ่งกระทำผิดครั้งแรกและกระทำความผิดตามเพราะความเยาว์วัย ทั้งจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจำนวน 10,000 บาท หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดตรัง สำหรับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันพิพากษา ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง และมาตรา 317 วรรคสาม เป็นความผิดต่างกรรมกัน และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เป็นสองกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้วคงจำคุก 2 ปี อีกกระทงหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 1 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 3 ปี 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปฝึกและอบรมมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหาย 2 ครั้ง เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายครั้งแรกในคืนวันที่ 16 มีนาคม 2544 ครั้นถึงวันรุ่งขึ้นเวลาเที่ยงวันผู้เสียหายจะกลับบ้านจึงเดินออกจากบ้านที่เกิดเหตุกับนางสาวเรืองรองเดินไปได้ประมาณ 2 กิโลเมตร จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ขับรถจักรยานยนต์ตามมา จำเลยที่ 2 จับแขนนางสาวเรืองรอง จำเลยที่ 1 จับแขนผู้เสียหาย บอกผู้เสียหายว่าค่อยกลับตอนเย็น ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 1 ดึงแขนลากตัวผู้เสียหายกลับไปบ้านที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายอีก 1 ครั้ง เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกติดตามผู้เสียหายไปในลักษณะทันที ถือว่าผู้เสียหายยังไม่หลุดพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก ดังนั้น การกระทำชำเราของจำเลยที่ 1 ทั้งสองครั้งจึงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ในวาระเดียวกันโดยเจตนาเดิมไม่ขาดตอนจากกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำสองกรรม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share