แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์หลายคนฟ้องจำเลยให้รับผิดฐานละเมิดมาในฟ้องเดียวกัน โดยแยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องเป็นจำนวนเท่าใดมาชัดเจน เป็นส่วนของแต่ละคนมิได้เรียกร้องเป็นจำนวนรวมกันมา เมื่อทุนทรัพย์ของโจทก์คนใดไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์คนนั้นมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
แม้ผู้ถูกทำละเมิดเป็นข้าราชการ มิสิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิของผู้ถูกทำละเมิดที่จะเรียกร้องจากผู้ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดต้องระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถบรรทุกขยะคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฝ.๔๒๓๒ นำขยะไปทิ้งตามทางการที่จ้าง เมื่อขับไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถเลี้ยวขวาผ่านช่องว่างระหว่างร่องกลางถนนไปสู่ฝั่งขวาถนน เพื่อกลับรถไปสู่เส้นทางที่จะนำขยะไปทิ้ง ขณะนั้นมีรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฒ. ๒๙๗๒ ซึ่งโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้เช่าซื้อและโจทก์ที่ ๓ เป็นผู้ขับ วิ่งสวนทางมาด้วยความประมาทของจำเลยที่ ๒ โดยไม่หยุดรถให้รถทางตรงวิ่งผ่านไปก่อน กลับเลี้ยวรถตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด สุดวิสัยที่รถยนต์เก๋ง ก.ท.ฒ.๒๙๗๒ จะหยุดได้ทัน จึงทำให้ชนกับรถขนขยะอย่างแรง ยังผลให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองรวมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของโจทก์หรืออย่างน้อยโจทก์มีส่วนร่วมประมาทด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๒ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๒๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ จำนวน ๗,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๔ จำนวน ๔,๕๐๐ บาท ๒๗๔,๘๐๐ บาท แต่โจทก์ได้แยกทุนทรัพย์ มาชัดเจน เป็นส่วนของแต่ละคน มิได้เรียกร้องเป็นจำนวนรวมกันมา โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๔ แต่ละคนเป็นจำนวนไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาจำเลยที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๒
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแล้ว เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียว
สำหรับค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ โต้เถียงมาเฉพาะค่ารักษาพยาบาลโดยอ้างว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นข้าราชการ น่าจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ที่ ๒ จะมีสิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่ ๒ ที่จะเรียกร้องจากจำเลยต้องระงับไป
พิพากษายืน