คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประเด็นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในคำร้องขอมีเพียงว่าผู้ร้องครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องติดต่อกันมา 56 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่มีประเด็นเรื่องการได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากบิดามารดาก่อนบิดามารดาถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้ได้ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรมนอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสัก เพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือ เพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายหนอมกับอำแดงพลอย พิมกระจ่าง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน4 คน คือ ผู้ร้อง นางสาด นางสุข และนางรอดบิดามารดาผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1484 บิดามารดาผู้ร้องและพี่น้องทุกคนช่วยกันทำนา เมื่อบิดามารดาถึงแก่ความตายไปและพี่น้องต่างมีครอบครัวแยกไปอยู่ที่อื่น ผู้ร้องคงครอบครองทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าวตามลำพังโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเป็นเวลา56 ปีแล้ว ขอให้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนางรอด ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรนางสาดผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรนางสุข ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายหนอมกับอำแดงพลอยที่ยังไม่ได้แบ่งมรดกกัน ผู้ร้องจึงเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคน ไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ได้ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่าผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับมารดาของผู้คัดค้านที่ 1มารดาของผู้คัดค้านที่ 2 และมารดาของผู้คัดค้านที่ 3 ปัจจุบันบิดามารดาของผู้ร้องตลอดจนมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามได้ถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนตายบิดามารดาของผู้ร้องซึ่งเป็นตาและยาย ของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ 1484 ผู้คัดค้านที่ 3 ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินพิพาท คงมีปัญหาโต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเข้าทำนาติดต่อกันทุกปีตั้งแต่บิดามารดาถึงแก่ความตายจนถึงปัจจุบันก็ได้ให้บุตรเข้าทำนาแทน พี่น้องอื่นมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด แสดงว่าบิดามารดาผู้ร้องได้ยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องแล้ว โดยมอบโฉนดให้ผู้ร้องยึดถือไว้และมอบที่ดินพิพาทให้ประกอบอาชีพนั้น เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำร้องขอ คงอ้างเพียงว่าผู้ร้องครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องติดต่อกันมา 56 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากบิดามารดาก่อนบิดามารดาถึงแก่ความตายและศาลจึงไม่อาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้ได้ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรมนอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสัก เพียงใดตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่าผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ตรงข้ามผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้อง ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาทการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้นชอบด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share