คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3980/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจขยายผลจับกุมผู้ค้าเมทแอมเฟตามีนรายใหญ่ได้อีก 1 คน และยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 8,000 เม็ด นับว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สมควรลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
จำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น มิได้เป็นผู้ค้ารายใหญ่ เมื่อได้พิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของจำเลยและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเป็นการเฉพาะราย สมควรลงโทษปรับจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตและลงโทษปรับจำเลยด้วย แม้เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยกระทำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตและลงโทษปรับจำเลยด้วย การเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลยจึงเป็นการมิชอบ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 สำหรับโทษจำคุกที่ศาลฎีกาจะลงโทษแก่จำเลยใหม่นั้น เป็นโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาแน่นอน จึงเพิ่มโทษจำคุกจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8707/2545 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.7614/2545 ของศาลชั้นต้น กับริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ บวกโทษ และนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม, 102 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 50 ปี และปรับ 500,000 บาท บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการกำหนดโทษ (ที่ถูก รอการลงโทษ) ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8707/2545 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นจำคุก 51 ปี และปรับ 500,000 บาท นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.7614/2545 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้อีก ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53) เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท เมื่อบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนอีก 1 ปี คงจำคุก 26 ปี และปรับ 500,000 บาท นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.7614/2545 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏว่าหลังจากจำเลยถูกจับกุมในคดีนี้แล้ว จำเลยได้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจขยายผลจับกุมนางเล็กหรือสมใจ วงศ์ศรีเผือก โดยโทรศัพท์ติดต่อให้นางเล็กหรือสมใจนำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยอีก 8,000 เม็ด เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมนางเล็กหรือสมใจได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกปิติพันธ์ กฤษดากร ณ อยุธยา พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุม และบันทึกการจับกุมที่ได้ความว่าหลังจากจำเลยถูกจับกุม จำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมผู้ค้าเมทแอมเฟตามีนรายใหญ่ได้อีก 1 คน และยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 8,000 เม็ด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สมควรลงโทษจำคุกจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษปรับจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคสอง นั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยไม่มีอาชีพ จำเลยจึงไม่น่าจะมีรายได้จากการประกอบอาชีพใด เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคดีนี้มีจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนัก 198.260 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 22.115 กรัม ประกอบกับตามบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ปรากฏว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้เพราะประสงค์จะได้ค่าจ้างจากการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้อื่น ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น มิได้เป็นผู้ค้ารายใหญ่ เมื่อได้พิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของจำเลยและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย สมควรลงโทษปรับจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง สำหรับการเพิ่มโทษจำเลยนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตและลงโทษปรับจำเลยด้วย แม้เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยกระทำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตและลงโทษปรับจำเลยด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว การเพิ่มโทษที่จะลงแกจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลยจึงเป็นการมิชอบ และสำหรับโทษจำคุกที่ศาลฎีกาจะลงโทษแก่จำเลยใหม่นั้นเป็นโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาแน่นอน จึงเพิ่มโทษจำคุกจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ได้ แต่สำหรับโทษปรับ เมื่อศาลชั้นต้นมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลยซึ่งเป็นการมิชอบดังที่วินิจฉัยแล้ว แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 30 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษเฉพาะโทษจำคุกกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 45 ปี รวมจำคุก 45 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8707/2545 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นจำคุก 23 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.7614/2545 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share