คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติของมาตรา 100/2 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนรายใหญ่ โดยอาศัยข้อมูลของจำเลยดังกล่าวแต่ประการใด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน จึงไม่มีเหตุที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ความผิดของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทหรือประหารชีวิต ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ แต่ศาลชั้นต้นคงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวมิได้กำหนดโทษปรับด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 718/2543 ของศาลชั้นต้น และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 401/2546 ของศาลชั้นต้น และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 66 วรรคสาม), 102 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 401/2546 ของศาลชั้นต้น ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 718/2543 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอส่วนนี้ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ใช้บทบัญญัติของมาตรา 100/2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อลดโทษจำคุกให้แก่จำเลยโดยอ้างว่า หลังถูกจับกุมจำเลยได้ให้ข้อมูลถึงแหล่งที่มาของเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งนำไปสู่ตัวการผู้จำหน่ายรายใหญ่ที่แท้จริงนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนรายใหญ่ โดยอาศัยข้อมูลของจำเลยดังกล่าวแต่ประการใด ไม่อาจถือได้ว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน จึงไม่มีเหตุที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ความผิดของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ แต่ศาลชั้นต้นคงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวมิได้กำหนดโทษปรับด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 และไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share