คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3989/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำนวนเงินที่ระบุในเช็คพิพาทเกินไปจากหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ผู้เสียหายแม้ธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน6,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาสะพานพุทธลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 645,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่ผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อถึงกำหนดได้มีการนำเช็คพิพาทดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากบัญชีปิดแล้ว

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ชำระหนี้ให้ผู้เสียหายไปแล้วบางส่วนหรือไม่ ในข้อนี้นางวารุณีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ให้จำเลยกู้ยืมเงินไป 600,000 บาท เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2540 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินหมาย จ.1 กำหนดชำระคืนภายใน 6 เดือนโดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คสองฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ผู้เสียหาย แต่ต่อมาได้ขอเปลี่ยนเป็นเช็คพิพาทหมาย จ.2 และรับเช็คสองฉบับดังกล่าวกลับคืนไป เมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้ จำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเลย แต่ได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าพยานเป็นภริยาของพันตำรวจโทสถิตย์ ไสวเกียรติ ในช่วงปลายปี 2538 สามีได้ย้ายมาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังต่อมาได้ย้ายไปที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง สิบตำรวจโทบุญฤทธิ์ บันดาศักดิ์ สิบตำรวจโทราเชล นาคพรหมมินทร์ เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของสามีพยาน ส่วนสิบตำรวจโททิวา แก่นวงศ์ จะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของสามีพยานหรือไม่ ไม่ทราบในประเด็นข้อนี้ได้ความจากจำเลยว่า การกู้ยืมเงินรายนี้เกิดขึ้นประมาณต้นปี 2539 โดยจำเลยกู้ยืมจากพันตำรวจโทสถิตย์สามีผู้เสียหาย และได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยไม่ได้กรอกข้อความซึ่งพันตำรวจโทสถิตย์แจ้งว่าจะนำไปให้ภริยาลงนามในภายหลังและจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทหมาย จ.2 ให้แก่พันตำรวจโทสถิตย์ภายหลังทำสัญญาจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนด้วยการสั่งจ่ายเช็ครวม 11 เดือน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 เช็คสองฉบับตามเอกสารหมาย ล.4 ผู้เสียหายเป็นคนนำเข้าเรียกเก็บเงิน ส่วนเช็คเอกสารหมาย ล.1สิบตำรวจโทบุญฤทธิ์เป็นผู้นำเข้าเรียกเก็บเงินเช็คเอกสารหมาย ล.2 สิบตำรวจโทราเชลเป็นผู้นำเข้าเรียกเก็บเงิน ส่วนเช็คเอกสารหมาย ล.5 สิบตำรวจโททิวาเป็นผู้นำเข้าเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินภายหลังได้ให้นายสมชาย นาชัยรัตน์ นำเข้าเรียกเก็บเงินได้ ต่อมาพันตำรวจโทสถิตย์อ้างว่าเช็คเรียกเก็บเงินช้าจึงได้คืนเช็คที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระแก่จำเลยและขอให้จำเลยชำระเป็นเงินสด จำเลยจึงผ่อนชำระเป็นเงินสดเรื่อยมา เห็นว่าในข้อที่จำเลยอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้ไปแล้วนั้น เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.4 ฉบับที่ 1 และที่ 2 ในช่องผู้ยื่นเช็คและผู้รับเงินปรากฏว่าลายเซ็นในเอกสารดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับลายเซ็นของผู้เสียหายในบันทึกคำเบิกความของพยานโจทก์แล้ว น่าเชื่อว่า เป็นลายเซ็นของบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งแสดงว่าผู้เสียหายได้นำเช็คซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินและรับเงินตามเช็คทั้งสองฉบับไปแล้ว ส่วนเช็คตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ก็ปรากฏว่า สิบตำรวจโทบุญฤทธิ์และสิบตำรวจโทราเชลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ใต้บังคับบัญชาของสามีผู้เสียหายเป็นผู้ยื่นเช็คและลงลายมือชื่อรับเงินไปซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทหมาย จ.2 ที่ผู้เสียหายให้สิบตำรวจเอกบุญฤทธิ์ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินน่าเชื่อว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้ผู้เสียหายกับสามีไปบางส่วนแล้ว ตามเช็คเอกสารหมาย ล.1 ล.2 และ ล.4 ตั้งแต่ปี 2539 ก่อนวันที่ลงในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ดังนั้น จำนวนเงินที่ระบุในเช็คพิพาทจึงเกินไปจากหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้ผู้เสียหายกับสามีอยู่แม้ธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง ปัญหานี้แม้จำเลยไม่หยิบยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share