คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7200/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ๆ เนื่องจากการเลิกจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ และให้จ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นคำฟ้องที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และโจทก์อาจฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานมาในคดีเดิมได้ เพราะจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ก่อนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ไม่ฟ้อง เมื่อคดีเดิมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่มีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่อาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีเดิม จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามมิให้โจทก์รื้อร้องฟ้องกันอีก ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31แต่ในส่วนค่าเสียหายของโจทก์จากการไม่ได้ค่าจ้างนับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างตลอดมาถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้าง แล้วรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาศาลแรงงาน และในวันเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้เลิกจ้างโจทก์อีกนั้นถือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ยอมให้โจทก์ทำงานโดยตรง และโจทก์เพิ่งเกิดสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ตั้งแต่ศาลแรงงานมีคำพิพากษาในคดีก่อนที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ แล้วให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันเดียวกับที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีก จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าวซึ่งโจทก์ไม่อาจฟ้องขอรวมมาในคดีเดิมได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกมาเป็นค่าจ้างในส่วนนี้ไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยมีคำสั่งที่ให้ไล่โจทก์ออกจากงานต้องถือว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ไปในตัวตั้งแต่วันที่มีคำสั่งไล่ออกมิใช่วันที่จำเลยมีคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาของศาล คำสั่งพักงานโจทก์เป็นคำสั่งให้พักงานเพื่อรอผลการสอบสวนของจำเลย เมื่อจำเลยสอบสวนเสร็จและมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน ต้องถือว่าเป็นการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งพักงานโจทก์ไปในตัวตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออก และผู้มีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างตามระเบียบของจำเลย แต่กรณีของโจทก์ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวเนื่องจากศาลเป็นผู้มีคำสั่งนั้นล้วนเป็นอุทธรณ์ในเรื่องที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นฟ้องซ้ำ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

Share