แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่งจะเห็นได้ว่าโทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น ความผิดในคดีหลังจะต้องกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามที่คดีก่อนกำหนดไว้
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ให้จำคุกและปรับจำเลยโดยโทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ช่วงระยะเวลารอการลงโทษคือนับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันพิพากษาเป็นต้นไป มีกำหนด 2 ปี แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีก่อน การกระทำความผิดของจำเลยคดีหลังนี้ จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 58 วรรคหนึ่ง จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษมาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยมีคีตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 2 ขวด น้ำหนัก1 กรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เหตุเกิดที่แขวงห้วยขวางเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดคีตามีนดังกล่าวเป็นของกลางซึ่งใช้หมดไปในการตรวจพิสูจน์แล้ว จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7627/2542ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตภายในกำหนดระยะเวลารอการลงโทษดังกล่าวจำเลยกระทำความผิดคดีนี้อีก อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62, 106 วรรคหนึ่งบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7627/2542ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 (ที่ถูกมาตรา 106 วรรคหนึ่ง) จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7627/2542ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาว่า ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าเมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้นให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังแล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น ความผิดในคดีหลังจะต้องกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามที่คดีก่อนกำหนดไว้คดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7627/2542 ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ให้จำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ช่วงระยะเวลารอการลงโทษคือนับแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันพิพากษาเป็นต้นไป มีกำหนด 2 ปี แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2542 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7627/2542 การกระทำความผิดของจำเลยคดีหลังนี้จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษมาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้ที่ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น อนึ่ง แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไป ก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ จำเลยอายุไม่มากนักกำลังศึกษาอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยรังสิตและใกล้จะสำเร็จการศึกษาแล้วปรากฏตามหนังสือรับรองและใบรับรองผลการเรียนท้ายฎีกา ทั้งจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของจำเลยแล้ว การให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกเพื่อให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกสักครั้งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองของจำเลย เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้”
พิพากษาแก้เป็นว่าไม่นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7627/2542 ของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษคดีนี้คงจำคุก 1 ปีและให้ลงโทษปรับจำเลย 40,000 บาท อีกสถานหนึ่งเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก6 เดือนและปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปีนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับวัตถุออกฤทธิ์และยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีกกับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์