คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของ ค. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้ามิได้เป็นสิทธิเฉพาะตัวที่จะไม่ตกทอดไปยังผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายใหม่ ทั้ง ค. มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคหนึ่ง มาก่อนฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่ผู้ใดหรือได้นำเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินมาจาก ค.ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า ก็ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง
การที่จะกำหนดและจ่ายเงินทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการ มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6926 เนื้อที่ 6 ไร่ 93 ตารางวา โดยซื้อมาจากนายครองทรัพย์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 ราคาไร่ละ 300,000 บาท ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะเข้าดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงบนที่ดินของโจทก์และเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ พาดผ่านที่ดินของโจทก์บางส่วน โดยจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินประเภทต่างๆ ให้แก่โจทก์ ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงบนที่ดินของโจทก์และเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ พาดผ่านที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 2 งาน 85 ตารางวา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้ที่ดินของโจทก์บางส่วนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีก 2 งาน รวมที่ดินที่เกิดความเสียหายเนื้อที่ 1 ไร่ 85 ตารางวา และจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรื้อถอนเสาไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินของโจทก์ และต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 14 เดือน รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนเสาไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6926 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 140,000 บาท และใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนเสาไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงออกจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนทำการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ จำเลยที่ 1 ได้ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าให้ผู้เกี่ยวข้องทราบแล้ว โดยมีแนวสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 6926 คิดเป็นเนื้อที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าจำนวน 3 งาน 43 ตารางวา ขณะนั้นมีนายครองทรัพย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดมุกดาหารมีมติให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่นายครองทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในขณะที่จำเลยที่ 1 เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส่วนโจทก์ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายครองทรัพย์ในภายหลัง จำเลยทั้งสองมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านเหนือที่ดินของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้เสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของโจทก์อยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 เพียงขอใช้สิทธิในการเดินสายส่งไฟฟ้าเหนือพื้นดินบริเวณที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่เกิดแก่ระบบไฟฟ้าและเพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินได้รับผลกระทบกระเทือนน้อยที่สุด เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินยังใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อไปได้ตามเดิมแต่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดบางประการ ที่ดินของโจทก์นอกจากบริเวณที่ถูกสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านยังคงเหลืออีกมากและสามารถใช้ประโยชน์ได้ไม่เสียหายแต่อย่างใด ทั้งที่ดินของโจทก์ไม่ได้อยู่ในทำเลค้าขายและย่านชุมชน ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่น่าสูงถึงไร่ละ 1,200,000 บาท และค่าเสียหายจำนวน 140,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง นอกจากนั้นขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมที่ดินดังกล่าวถูกรอนสิทธิเหนือพื้นดินโดยจำเลยที่ 1 ได้ประกาศกำหนดแนวเขตสายไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ มุกดาหาร-สุวรรณเขต แล้ว จำเลยที่ 1 พิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ โดยความเป็นธรรมแก่เจ้าของเดิมแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1,000,000 บาท และค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจำนวน 279,740 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระแทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 ประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ มุกดาหาร-สุวรรณเขต ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 ตามเอกสารหมาย ป.ล.1 และได้ส่งแผนที่ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามเอกสารหมาย ล.8 หรือ ป.ล.5 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 115 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยสุวรรณเขต แขวงสุวรรณเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6926 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ 6 ไร่ 93 ตารางวา โดยซื้อมาจากนายครองทรัพย์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะทำการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านที่ดินของโจทก์ โดยจะจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้ตามระเบียบตามเอกสารหมาย จ.16 และในเดือนตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงบนที่ดินของโจทก์ ทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกเขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านเนื้อที่ 3 งาน 43 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดมุกดาหารกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้โจทก์จำนวน 139,215 บาท จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ไร่ละ 400,000 บาท โดยให้จ่ายในอัตราประเภทที่บ้านร้อยละ 90 ของราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ 2 งาน 70.6 ตารางวา เป็นเงินจำนวน 243,540 บาท กับให้จ่ายในอัตราประเภทที่นาร้อยละ 50 เนื้อที่ 72.4 ตารางวา เป็นเงินจำนวน 36,200 บาท รวมเป็นเงิน 279,740 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ส่วนที่ยังโต้เถียงกันอยู่โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 สายมุกดาหาร-นครพนม มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไร่ละ 1,200,000 บาท การสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงบนที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 85 ตารางวา ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย 7.17 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4603 และ 4605 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ จากนายบุดดีในราคา 6,186,695 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินประมาณ 12 เท่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดถนน ร.พ.ช. สายบ้านโพนทราย-บ้านโคกสูง อยู่ห่างจากที่ดินพิพาทประมาณ 2 กิโลเมตร มีราคาประเมินเป็นเงิน 510,505 บาท ตามแผนผังเปรียบเทียบราคาประเมินที่ดินตำบลบางทรายใหญ่เอกสารหมาย จ.20 และบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.21 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 บริษัทเอส เอ็น จี ซินดิเคทส์ จำกัด ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 30596 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ 3 ไร่ จากนางสาววรดาในราคา 2,880,000 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินของโจทก์ มีราคาประเมิน 630,000 บาท ตามบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.23 และบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเอกสารหมาย จ.24….
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันและมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เรื่องการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าพร้อมส่งแผนที่ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าสายส่ง 115 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยสุวรรณเขต แขวงสุวรรณเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ต่อมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดินตามแนวเขตที่ประกาศ สายส่งไฟฟ้าแรงสูงได้พาดผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 6926 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 รวมเนื้อที่ 3 งาน 43 ตารางวา ก่อนมีการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วตามเอกสารหมาย จ.16 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ เนื่องจากในระหว่างดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินมีการโอนขายเปลี่ยนเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากเจ้าของเดิมหลายทอดจนกระทั่งถึงโจทก์โดยโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขต ดินสายไฟฟ้าแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดมุกดาหารมีมติให้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในขณะที่จำเลยที่ 1 ประกาศเขตเดินสายไฟฟ้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 เท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของนายครองทรัพย์โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายครองทรัพย์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่นายครองทรัพย์ เพราะสิทธิเรียกร้องให้จ่ายเงินทดแทนการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวได้เกิดขึ้นก่อนและไม่ตกติดมากับที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายครองทรัพย์ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าก็ตาม แต่การจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 ในกรณีนี้ ก็มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติห้ามมิให้จ่ายแก่ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากเจ้าของเดิมที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินอยู่ก่อนแต่ยังไม่ได้รับแต่อย่างใดสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของนายครองทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้ามิได้เป็นสิทธิเฉพาะตัวที่จะไม่ตกทอดไปยังผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายใหม่ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา นอกจากนั้นไม่ปรากฏว่านายครองทรัพย์ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคหนึ่ง มาก่อน ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใด หรือได้นำเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทมาภายหลังจากจำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าก็ตาม ก็ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพิพาทจำนวน 136,250 บาท (ที่ถูก 139,215 บาท) ที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้แก่โจทก์เป็นธรรมแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายคณิสสรเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4603 และ 4605 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ จากนายบุดดีในราคา 6,186,695 บาท ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดถนน ร.พ.ช.สายบ้านโพนทราย-บ้านโคกสูง ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 2 กิโลเมตร มีราคาประเมิน 510,505 บาท และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 บริษัทเอส เอ็น จี ซินดิเคทส์ จำกัด ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 30596 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เนื้อที่ 3 ไร่ จากนางสาววรดาในราคา 2,880,000 บาท สำหรับที่ดินดังกล่าวอยู่ตรงกันข้ามเยื้องกับที่ดินของโจทก์ มีราคาประเมินเป็นเงิน 630,000 บาท สำหรับที่ดินพิพาทอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 สายมุกดาหาร-นครพนม มีราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดไร่ละ 1,200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 มีนายอนันต์ศักดิ์ พนักงานของจำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน และนายกฤช นิติกร 8 ทำหน้าที่หัวหน้าหมวดจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินเป็นพยานเบิกความว่า คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ วางหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินโดยแยกเป็นที่ดิน ต้นไม้ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับที่ดินนั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 มิได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพียงแต่รอนสิทธิในที่ดินเท่านั้น การจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจึงไม่เต็มตามราคาประเมินที่ดินที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้าเนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่สามารถทำประโยชน์ได้จึงจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 100 ที่ดินประเภทที่บ้านจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 90 ที่สวนจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 70 ที่ไร่ที่นาและที่ประเภทอื่นๆ จ่ายในอัตราร้อยละ 50 โดยถือราคประเมินที่ประกาศใช้ในปี 2535 ถึงปี 2538 ต่อมาปี 2539 คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ ได้ประชุมและมีมติให้จ่ายค่าเงินทดแทนทรัพย์สินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองในวันที่จำเลยที่ 1 กำหนดเขตที่จะเดินสายไฟฟ้าคือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 และได้นำราคาประเมินที่ดินของกรมที่ดินที่ประกาศใช้ในปี 2539 ถึงปี 2542 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทน เพื่อให้ราษฎรได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ป.ล.5 ถึง ป.ล.7 ที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากตัวเมืองมุกดาหาร ประมาณ 8 กิโลเมตร สภาพเป็นที่ว่างยังไม่มีการทำประโยชน์ การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในระยะ 40 เมตร จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มีราคาประเมินไร่ละ 200,000 บาท พ้นระยะ 40 เมตร แต่ไม่เกิน 60 เมตร มีราคาประเมินไร่ละ 160,000 บาท ที่ดินของโจทก์เป็นที่นาแต่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 90 เหมือนกับที่บ้านเนื้อที่ 2 งาน 70.60 ตารางวา เฉพาะส่วนที่เป็นที่ตั้งของเสาไฟฟ้าจำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนเพิ่มอีกร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือเป็นที่นาจำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ตามใบสำคัญรับเงินค่าทดแทน เอกสารหมาย ป.ล.9 และ ป.ล.10 เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 มีเจตนารมณ์เหมือนกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น โดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้กว้างๆ ว่าให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรม ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ดังนี้ การที่จะกำหนดและจ่ายเงินทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นด้วย สำหรับราคาที่ดินที่โจทก์นำสืบเป็นราคาที่มีการซื้อขายกันในปี 2540 และปี 2541 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาประมาณ 4 ปี มิใช่เป็นราคาที่ซื้อขายกันในขณะที่จำเลยที่ 1 ประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษา ส่วนราคาที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำสืบก็เป็นราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหาใช่เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่ จึงไม่สมควรนำราคาที่ดินตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงประการเดียวมาเป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากที่ดินของโจทก์ที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านเป็นส่วนที่อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 สายมุกดาหาร-นครพนม ซึ่งโจทก์ซื้อมาในราคาไร่ละ 300,000 บาท เมื่อได้คำนึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ทุกอนุมาตราประกอบกันแล้วที่ดินพิพาทควรมีราคาเฉลี่ยทั้งแปลงไร่ละ 300,000 บาท หรือตารางวาละ 750 บาท คำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในอัตราประเภทที่บ้านร้อยละ 90 ของราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ 2 งาน 70.60 ตารางวา เป็นเงิน 182,655 บาท กับคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินส่วนที่เหลือในอัตราประเภทที่นาร้อยละ 50 เนื้อที่ 72.40 ตารางวา เป็นเงิน 27,150 บาท รวมเป็นเงิน 209,805 บาท จำเลยที่ 1 ยังมิได้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจำนวน 209,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีชั้นฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share