คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานป่าไม้โดยยื่นคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่นาไม่มีต้นไม้เป็นสวนป่า เพื่อจะทำไม้ในป่าแล้วนำมาสวมเข้าเป็นไม้ในสวนป่าของตนที่ยื่นคำขอ และร่วมกับพวกทำไม้ในป่า โดยตัด ฟัน เลื่อย โค่น ไม้สัก ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวนมากถึง 164 ท่อน ปริมาตร 31.43 ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันม่ไม้สักอันยังมิได้แปรรูปจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้วร่วมกันใช้ตราสวนป่าซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มาจากการแจ้งความเท็จตีตอกหรือประทับหรือแสดงการเป็นเจ้าของไม้บนไม้สักดังกล่าว ซึ่งมิได้มาจากการทำสวนป่า ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นการกระทำที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวและไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย นับเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว แต่เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ความปรานีแก่จำเลยที่ 1 โดยการรอการลงโทษให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 69, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 มาตรา 24 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 137 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นอีกคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 มาตรา 24 กรณีเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานแจ้งความเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี ฐานมีไม้สักอันยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี ฐานใช้ตราตีตอกหรือประทับไม้ที่มิได้จากการทำสวนป่า จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 1 รับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานป่าไม้โดยยื่นคำขอขึ้นทะเบียนที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่นาไม่มีต้นไม้เป็นสวนป่า เพื่อจะทำไม้ในป่าแล้วนำมาสวมเข้าเป็นไม้ในสวนป่าของตนที่ยื่นคำขอ และร่วมกับพวกทำไม้ในป่าโดยตัด ฟัน เลื่อย โค่น ไม้สัก ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวนมากถึง 164 ท่อน ปริมาตร 31.43 ลูกบาศก์เมตร และร่วมกันมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แล้วร่วมกันใช้ตราสวนป่าซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มาจากการแจ้งความเท็จตี ตอกหรือประทับหรือแสดงการเป็นเจ้าของไม้บนไม้สักดังกล่าว ซึ่งมิได้มาจากการทำสวนป่า ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นการกระทำที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย นับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 มีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว แต่เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ความปรานีแก่จำเลยที่ 1 โดยการรอการลงโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่างไรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานมีไม้สักอันยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกกระทงละ 5 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้สักอันยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกกระทงละ 3 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมกับโทษจำคุกในข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 18 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share