คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคืนแก่โจทก์ด้วยเหตุลาภมิควรได้ โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การที่จำเลยทั้งสองเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์และธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แล้วธนาคารใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการธนาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ เมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่า มูลคดีนี้เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำสัญญาซื้อขายตู้สาขาโทรศัพท์นั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นข้อพิพาทเรื่องผิดสัญญาซื้อขายโดยตรง สัญญาดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุที่มาของการหักเงินชำระแก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 417,364.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 399,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,046,915 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สำนวนแรกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 399,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 สิงหาคม 2543) ต้องไม่เกินกว่า 18,364.93 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ สำนวนหลังให้ยกฟ้องโจทก์ (จำเลยที่ 1 ในสำนวนแรก) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ8,000 บาท (ที่ถูกกำหนดค่าทนายความสำนวนแรก 8,000 บาท)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสองฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างเหมาติดตั้งตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติให้แก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามสัญญาจ้างเหมา ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ ตามสัญญาซื้อขาย โดยมีข้อตกลงว่า โจทก์จะต้องส่งสินค้าตามสัญญา ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และจะต้องรับประกันคุณภาพสินค้าเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ หากในระหว่างการรับประกันมีการชำรุดบกพร่องใด ๆ เกิดขึ้นในตัวสินค้าที่ส่งมอบ โจทก์จะต้องเริ่มทำการซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือทำให้ใหม่ภายใน 48 ชั่วโมง นับจากที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะทำหน้าที่จัดส่งอุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ทางศูนย์บริการของโจทก์ ทั้งนี้การรับประกันไม่รวมถึงกรณีที่สินค้าเกิดชำรุดเสียหายเนื่องจากภัยธรรมชาติ และหรือถูกซ่อมหรือเปลี่ยนแปลงโดยบุคคลอื่นนอกจากโจทก์หรือกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนที่นอกเหนือสภาพการใช้งานตามปกติภายหลังการส่งมอบและตรวจรับสินค้า และไม่รวมถึงภัยอันเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร นอกจากนี้หลังจากติดตั้งระบบโทรศัพท์ตามสัญญาแล้ว โจทก์ยังจะต้องจัดอบรมโดยทำแผนการอบรมในหัวข้อตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยและเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ได้นำสัญญาค้ำประกันของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นเงิน 399,000 บาท มาวางไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกเงินประกันจากธนาคารเพื่อชำระค่าปรับหรือค่าเสียหายได้ทันที ตามสัญญาค้ำประกัน ครั้นวันที่ 29 เมษายน 2542 โจทก์ส่งมอบสินค้าและติดตั้งระบบ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อตรวจรับ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งขอริบหลักประกันตามสัญญาค้ำประกัน เป็นเงิน 399,000 บาท จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โดยอ้างว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ดำเนินการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับไม่บริการซ่อมแซมตรวจเช็คระบบโทรศัพท์ตามหนังสือ ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว และใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2543
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีสำนวนแรกต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ และคำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคืนแก่โจทก์ด้วยเหตุลาภมิควรได้ โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือ การที่จำเลยทั้งสองเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์และธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แล้วธนาคารใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของธนาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ เมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่า มูลคดีนี้เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำสัญญาซื้อขายตู้สาขาโทรศัพท์นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นข้อพิพาทเรื่องผิดสัญญาซื้อขายโดยตรง สัญญาดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุที่มาของการหักเงินชำระแก่จำเลยทั้งสองเท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฏีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารของโจทก์เป็นพยานหลักฐานในคดีเป็นการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์เสียค่าอ้างเอกสารภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว เป็นการไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย เห็นว่า การเสียค่าอ้างเอกสารตามตาราง 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะพิจารณาคดีนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้อ้างมีหน้าที่ชำระตั้งแต่เมื่อส่งเอกสารเป็นต้นไป แม้โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสารทันที แต่โจทก์ก็ได้ชำระให้ครบถ้วนถูกต้องก่อนยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับไว้แล้ว เช่นนี้ย่อมไม่ทำให้การรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์เสียไป ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังพยานเอกสารของโจทก์เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติ อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิเรียกเอาเงินประกันจากธนาคารตามสัญญาค้ำประกัน 4 หรือไม่ เห็นว่าจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ผิดสัญญาซื้อขายใน 2 กรณี คือ ไม่จัดให้มีการอบรมการใช้งานกับไม่ดำเนินการซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องตามข้อตกลงในสัญญา ซึ่งในกรณีแรกนั้นสัญญาซื้อขาย ข้อ 5.9 กำหนดว่า ผู้ขายจะต้องจัดอบรม โดยทำแผนการอบรมในหัวข้อตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยจัดอบรมทั้งหมดเป็นเวลา5 วัน กำหนดการอบรมภายใน 30 วัน หลังติดตั้ง และโจทก์มี นายทวีศักดิ์ วิศวกรของโจทก์เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า พยานมีหน้าที่อบรมให้แก่ผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การอบรมดังกล่าวเป็นเรื่องการใช้งาน การบำรุงรักษา และการแก้ไขเครื่องโทรศัพท์ มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เข้าร่วมรับการอบรมด้วย แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมทุกวัน ใช้เวลาอบรมประมาณ 1 สัปดาห์ การอบรมดังกล่าวจัดภายหลังติดตั้งเครื่องโทรศัพท์แล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการจัดการอบรมแล้ว และจำเลยที่ 2 ยังเบิกความด้วยว่า ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่าโจทก์จัดการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้วด้วย เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาในข้อที่ให้จัดให้มีการอบรมแล้ว ส่วนกรณีไม่ดำเนินการซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า ในระหว่างระยะเวลารับประกัน การ์ดสายนอกและสายในที่ใช้กับตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติได้รับความเสียหายจำนวนมาก จำเลยที่ 1 ได้จัดส่งการ์ดดังกล่าวให้โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ซ่อมแซมให้ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า สัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการรับประกันสินค้าระบุว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับประกันคุณภาพสินค้าที่ส่งมอบเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ หากในระหว่างเวลาการรับประกัน มีความชำรุดบกพร่องโจทก์ต้องเริ่มซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือทำให้ใหม่ภายใน 48 ชั่วโมง นับจากที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อ โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะทำหน้าที่จัดส่งอุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ไปยังศูนย์บริการของโจทก์แต่ทั้งนี้การรับประกันดังกล่าวมีข้อยกเว้นหลายกรณี รวมทั้งกรณีที่ความชำรุดเสียหายของสินค้าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรด้วย จำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานว่า ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2 ครั้ง ว่ามีการ์ดสายใน และการ์ดสายนอกชำรุดเสียหายไม่มีสัญญาณและไม่มีไฟฟ้าเข้าวงจร รวมทั้งสิ้น 15 ใบ โดยมีนายไพศาล รักษาการหัวหน้าฝ่ายโทรคมนาคม และรองศาสตราจารย์พูลพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนของมหาวิทยาลัยเบิกความสนับสนุน ส่วนโจทก์มีนายทวีศักดิ์ วิศวกร และนายสุชาติ ผู้จัดการโครงการของโจทก์เบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า การ์ดสายในและการ์ดสายนอกซึ่งได้รับความเสียหายนั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีไฟฟ้ากระแสสลับเหนี่ยวนำจากสายภายในย้อนกลับเข้าไปทางสายเคเบิ้ลจำนวนมากและหลายคู่สาย ทำให้วงจรภายในของตู้โทรศัพท์เสียหายการ์ดสายในและการ์ดสายนอกทำจากสารกึ่งตัวนำ เมื่อมีแรงดันเกินกว่าที่จะรับได้ก็จะมีอาการร้อน และแตกร้าวเสียหายได้ สอดคล้องกับสภาพของการ์ดที่ใช้งานไม่ได้ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองอ้างว่า มีรอยไหม้ ส่วนสาเหตุที่เกิดมีกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำเช่นนี้มาจากการเดินสายเคเบิ้ลภายในอาคารไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยเดินขนานกับสายไฟแรงสูงภายในอาคาร นายสุชาติเป็นผู้เข้าไปใช้เครื่องมือทดสอบหาสาเหตุด้วยตนเอง ส่วนนายทวีศักดิ์เป็นผู้จัดการโครงการที่โจทก์ขายตู้สาขาโทรศัพท์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ทำงานกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งระบบตู้โทรศัพท์มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความรู้และประสบการณ์ที่สามารถหาสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ทั้งยังได้ความด้วยว่าหลังจากนั้นโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบถึงสาเหตุและยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่อยู่ในขอบข่ายการรับประกันสินค้า ตามหนังสือ ซึ่งนายไพศาลและรองศาสตราจารย์พูลพงษ์ก็เบิกความรับว่า ได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 จริง และได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย โจทก์ จำเลยที่ 1 และบริษัท ช.การช่าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการเดินสายไฟและสายเคเบิ้ลภายในอาคารที่ติดตั้งตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติ สนับสนุนให้เชื่อได้ว่า สาเหตุตามข้ออ้างของโจทก์มีความเป็นไปได้จึงต้องมีการประชุมหารือเพื่อหาสาเหตุ แม้ในที่สุดการประชุมจะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอมาสืบให้เห็นว่า สาเหตุของความเสียหายของการ์ดโทรศัพท์มาจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่า เชื่อว่า สินค้าที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 เกิดความชำรุดเสียหายภายหลัง โดยมีสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ เช่นนี้โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขาย แต่อย่างใด ทั้งนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ส่งการ์ดที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดแก่โจทก์เพื่อทำการซ่อมแซมตามสัญญาแล้วหรือไม่ และเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในการรับประกันสินค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินประกันจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดผู้ค้ำประกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ผิดสัญญาซื้อขาย และจำเลยทั้งสองต้องคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นคู่ความเฉพาะในสำนวนแรก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 4,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในสำนวนแรกแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในสำนวนหลังแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share