คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย
คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงิน 8,668,978.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 7,492,480.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 2,500 บาท และค่าทนายความ 61,014 บาท แก่โจทก์ โดยชำระให้เสร็จภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20208 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร อันเป็นทรัพย์สินจำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
ระหว่างการบังคับคดี บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์เดิมศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 20208 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 20208 ตำบลโคกแฝก อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้แทนธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์เดิมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 20208 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร ของจำเลยนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศวันขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวหลายครั้งแต่ยังไม่สามารถขายได้ ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1085/2546 ของศาลล้มละลายกลางและมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ในวันเดียวกันนั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ก่อน เนื่องจากโจทก์เดิมโอนขายสินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องในคดีให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด และบริษัทได้โอนขายต่อให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด แล้ว ยังอยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศวันขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวใหม่นัดที่ 1 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 นัดที่ 2 ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 นัดที่ 3 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 และนัดที่ 4 ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ครั้นถึงกำหนดนัดขายทอดตลาดนัดที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา 910,000 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์เพียงว่า โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้หรือไม่ ปัญหาดังกล่าว แม้ผู้ซื้อทรัพย์จะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในชั้นอุทธรณ์ และเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกา แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในการยื่นคำร้องของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทรัพย์พิพาทต่อไป ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดในนามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากโจทก์เห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปโดยมิชอบอย่างไร จะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางในคดีล้มละลาย มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีนี้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตาม เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย คดีนี้ ได้ความว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางมีสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์พิพาท หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ อันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปแล้ว พฤติการณ์ข้างต้น จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยจำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิดังกล่าวของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่ ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share