แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้
การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย
คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 357 นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 ของศาลนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ยกฟ้องฐานรับของโจร ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 310/2548 ของศาลนี้นั้น คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 2 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ให้จำคุก 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ในความผิดฐานลักทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ คงรับฎีกาได้เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่การพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะถือเป็นการแก้ไขมากซึ่งกรณีที่จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้นมีความหมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกัน และมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่ง มาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี ส่วนวรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกินห้าปี คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสอง ฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมาก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และสั่งรับฎีกาโจทก์นั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยที่ 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 ว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งฎีกาของจำเลยที่ 2 ตามรูปคดีแล้วส่งสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป ชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา