คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2300/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อนในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยที่ 2 ขับแล่นผ่านบริเวณที่ผู้เสียหายกับพวกนั่งดื่มสุราอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 มาจอดติดเครื่องรออยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 ถึง 2 เมตร จำเลยที่ 1 ลงจากรถแล้วเข้าไปใช้ไม้ท่อนกลม ผิวขรุขระ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว ยาว 1 ช่วงแขน ตีศีรษะผู้เสียหาย 2 ถึง 3 ครั้ง จนผู้เสียหายหมดสติ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ท่อนขนาดใหญ่ตีผู้เสียหายที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ 2 ถึง 3 ครั้ง จนเป็นเหตุให้กะโหลกศีรษะแตก หากรักษาไม่ทันอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต และจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน แสดงว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะมีบาดแผลเพียงแห่งเดียวก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย เพียงแต่ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
จำเลยที่ 2 จอดรถจักรยานยนต์ติดเครื่องรอจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 1 ถึง 2 เมตร และสามารถเห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตลอด จำเลยที่ 2 ไม่รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ก่อนจะมากระทำความผิดแต่ทราบได้ในขณะที่เห็นจำเลยที่ 1 ลงมือกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ก็ยังคงจอดรถรออยู่พร้อมที่จะรับจำเลยที่ 1 พาหลบหนีไปเพื่อให้พ้นการจับกุมได้ทุกเมื่อและก็รับจำเลยที่ 1 หลบหนีไปด้วย อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในขณะกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ท่อนไม้ตีผู้เสียหายที่ศีรษะหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายเนื่องจากแพทย์รักษาได้ทันจึงเพียงแต่ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 80 , 83 , 288
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 86 ให้ลงโทษจำคุก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีศีรษะ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยที่ 2 ขับแล่นผ่านบริเวณที่ผู้เสียหายกับพวกนั่งดื่มสุราอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 มาจอดติดเครื่องรออยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 ถึง 2 เมตร จำเลยที่ 1 ลงจากรถแล้วเข้าไปใช้ไม้ท่อนกลม ผิวขรุขระ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว ยาว 1 ช่วงแขน ตีศีรษะผู้เสียหาย 2 ถึง 3 ครั้ง จนผู้เสียหายหมดสติ สอดคล้องกับคำเบิกความของพระภิกษุคำพันที่ว่าขณะพยานอยู่บนกุฏิห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์แล่นมาจอดแต่ยังติดเครื่องยนต์อยู่ หลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 นาที มีเสียงดังผลัวะ 2 ถึง 3 ครั้ง และเสียงขวดแตก พยานเปิดประตูกุฏิออกมาดู เห็นชาย 2 คน นั่งรถจักรยานยนต์ออกไปทางประตูวัดด้านทิศใต้ ทั้งเมื่อคำนึงถึงความรุนแรงของบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายถูกตี 2 ถึง 3 ครั้ง มิใช่ถูกตีเพียง 1 ครั้ง ดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างและปรากฏว่าบาดแผลของผู้เสียหายซึ่งกะโหลกศีรษะด้านขวาแตก เลือดคั่งภายในกะโหลก ก้อนเลือดกดเนื้อสมอง ต้องรับการผ่าตัด หากไม่มีโรคแทรกซ้อนจะรักษาหายภายใน 6 สัปดาห์ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ และแพทย์ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเบิกความว่า บาดแผลของผู้เสียหายหากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ท่อนขนาดใหญ่ตีผู้เสียหายที่ศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ ตีรวม 2 ถึง 3 ครั้ง จนเป็นเหตุให้กะโหลกศีรษะแตก หากรักษาไม่ทันอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต และจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน แสดงว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลเพียงแห่งเดียว แสดงว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่านั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะมีบาดแผลเพียงแห่งเดียว แต่เกิดจากการถูกตี 2 ถึง 3 ครั้ง และเป็นบาดแผลฉกรรจ์อาจทำให้ตายได้ จึงรับฟังไม่ได้ดังจำเลยอ้าง ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย เพียงแต่ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้ความจากพระภิกษุคำพันและพนักงานสอบสวนเพียงว่า พบเศษแก้วแตกจากขวดสุราหรือเบียร์ในที่เกิดเหตุ และผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันว่า ไม่ได้ใช้ไม้หรืออาวุธใดต่อสู้กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้มือปัดป้อง ส่วนจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่า ผู้เสียหายไม่พอใจที่จำเลยที่ 1 ทวงหนี้และรถจักรยานยนต์ จึงทุบขวดสุราแตกเป็นปากฉลามจะแทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงหยิบไม้ฉำฉาตีศีรษะผู้เสียหาย แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้พบขวดแตกเป็นปากฉลามในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด คงพบแต่เศษแก้วแตกจากขวด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวเป็นผู้ใช้ไม้ตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยที่ 2 จอดรถจักรยานยนต์ติดเครื่องรอจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 1 ถึง 2 เมตร และพระภิกษุคำพันเบิกความว่า เมื่อได้ยินเสียงผู้เสียหายถูกตีก็เปิดประตูกุฏิออกมาเห็นชาย 2 คน นั่งรถจักรยานยนต์แล่นออกไปทางประตูวัดด้านทิศใต้ ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 จอดรถรออยู่หน้าวัดในระยะห่างประมาณ 30 เมตร แต่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ระยะห่างประมาณ 50 ถึง 60 เมตร จึงแตกต่างกันน่าจะเป็นเพียงข้อแก้ตัวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แสดงว่า จำเลยที่ 2 ต้องจอดรถรอจำเลยที่ 1 อยู่ในระยะดังที่ผู้เสียหายเบิกความ และสามารถเห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตลอด แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ไม่รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ก่อนจะมากระทำความผิด แต่ทราบได้ในขณะที่เห็นจำเลยที่ 1 ลงมือกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ก็ยังคงจอดรถรออยู่พร้อมที่จะรับจำเลยที่ 1 พาหลบหนีไปเพื่อให้พ้นการจับกุมได้ทุกเมื่อและก็รับจำเลยที่ 1 หลบหนีไปด้วย อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในขณะกระทำความผิด ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่ว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share