แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า ผู้คัดค้านก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนไม่เกินร้อยละ 5 และได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้สามารถทำได้แต่อนุญาโตตุลาการกลับวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไปโดยไม่นำข้อกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านต่อศาลชั้นต้นอย่างชัดแจ้งแล้วย่อมมีสิทธินำสืบพิสูจน์เพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำคัดค้านของผู้คัดค้านไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และเป็นการคัดค้านไม่ตรงประเด็น ไม่มีประเด็นที่ผู้คัดค้านจะนำสืบพิสูจน์ แล้วให้งดการสืบพยานเป็นการไม่ชอบ เป็นอุทธรณ์ในทำนองว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานของผู้คัดค้าน เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 บัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องต่อศาล และเมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วให้รีบทำการไต่สวนและมีคำพิพากษาโดยพลัน และศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ โดยเหตุแห่งการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ได้แก่ เหตุที่คู่ความต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นตามมาตรา 43 ประการหนึ่ง และเหตุที่ศาลอาจยกขึ้นได้เองตามมาตรา 44 อีกประการหนึ่ง ผู้ซึ่งจะต้องถูกบังคับย่อมมีสิทธิยกข้อที่จะเป็นเหตุให้ศาลปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดตามบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้คัดค้านคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดได้และศาลต้องทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ความชัดแจ้งว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้นหรือไม่
ผู้คัดค้านอุทธรณ์กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยานของผู้คัดค้านโดยมีคำขอเพียงให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของผู้คัดค้านแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้ผู้คัดค้านชนะคดีตามคำคัดค้าน แม้จะโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ก็เป็นเพียงเหตุผลประกอบการอุทธรณ์คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงิน 690,679 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าเสียหาย ซึ่งเป็นคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่สามารถระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ การบังคับให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าเสียหายตามคำชี้ขาด จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงต้องถูกผูกพันตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและชำระเงินให้ผู้ร้อง พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 537,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่เสนอข้อพิพาท (เสนอข้อพิพาทวันที่ 6 สิงหาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า แม้ความสูงของทางขึ้นที่จอดรถจะมีความสูงเพียง 2.03 เมตร ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนไม่เกินร้อยละ 5 และได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้สามารถทำได้ แต่อนุญาโตตุลาการกลับวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไปโดยไม่นำข้อกฎหมายมาวินิจฉัย คำชี้ขาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านต่อศาลชั้นต้นอย่างชัดแจ้งแล้ว ผู้คัดค้านย่อมมีสิทธินำสืบพิสูจน์เพื่อให้ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำคัดค้านของผู้คัดค้านไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 เป็นการคัดค้านไม่ตรงประเด็น จึงไม่มีประเด็นที่ผู้คัดค้านจะนำสืบพิสูจน์ และให้งดการสืบพยานผู้คัดค้านเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน… อุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นกรณีอุทธรณ์คัดค้านในทำนองว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานของผู้คัดค้านเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวได้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกมีว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การจะบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 บัญญัติให้ คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการยื่นคำร้องต่อศาล และเมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วให้รีบทำการไต่สวนและมีคำพิพากษาโดยพลัน และศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ โดยเหตุแห่งการปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดอาจแบ่งได้ 2 ประการ ได้แก่ เหตุที่คู่พิพาทต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นตามที่บัญญัติในมาตรา 43 ประการหนึ่ง และเหตุที่ศาลอาจยกขึ้นได้เองตามที่บัญญัติในมาตรา 44 อีกประการหนึ่ง ผู้ซึ่งจะต้องถูกบังคับย่อมมีสิทธิยกข้อที่จะเป็นเหตุให้ศาลปฏิเสธไม่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้คัดค้านคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดได้ และศาลต้องทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ความชัดแจ้งว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้นหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของคู่พิพาททั้งสองฝ่ายที่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลตามข้ออ้างข้อเถียงของตน คดีนี้ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านสรุปความได้ว่า แม้ความสูงของทางขึ้นที่จอดรถจะมีความสูงเพียง 2.03 เมตร ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้สามารถทำได้ แต่อนุญาโตตุลาการกลับวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไปโดยไม่นำข้อกฎหมายมาวินิจฉัย คำชี้ขาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการคัดค้านในทำนองว่าการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 44 ผู้คัดค้านจึงยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้คัดค้านคำร้องของผู้ร้องได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 ไม่มีประเด็นที่ผู้คัดค้านจะนำสืบพิสูจน์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี คำคัดค้านดังกล่าวผู้คัดค้านเพียงอ้างว่าการก่อสร้างทางขึ้นที่จอดรถที่ผิดไปจากแบบแปลนไม่เกินร้อยละ 5 ได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้สามารถทำได้ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานอื่นใดอีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานของผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการสุดท้ายมีว่า การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้นำคดีนี้ไปพิจารณารวมกับคดีหมายเลขดำที่ 1242/2548 ของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งไว้ อุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ผู้คัดค้านอุทธรณ์คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งงดสืบพยานของผู้คัดค้าน โดยมีคำขอเพียงให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานของผู้คัดค้านแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ มิได้มีคำขอให้ผู้คัดค้านชนะคดีตามคำคัดค้าน แม้จะโต้แย้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นเพียงเหตุผลประกอบการอุทธรณ์คัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่ผู้คัดค้าน
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่ผู้คัดค้านค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ