คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาการจัดการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการและบริหารกิจการโรงแรมของจำเลย สัญญาการจัดการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลานับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 ครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาการบริหารโรงแรมไปอีก 10 ปี จำเลยปฏิเสธการขยายระยะเวลาโดยอ้างว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยไม่ได้ตกลงไว้ ข้อสัญญาดังกล่าวทั้งหมดหาได้มีความหมายว่าจำเลยจะต้องยินยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาการจัดการทันทีไม่ เพราะไม่มีข้อความใดที่ชัดเจนพอที่จะแสดงได้ว่าการขยายอายุสัญญาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นการยากที่คู่สัญญาจะเขียนสัญญาให้ชัดเจนเช่นนั้น หรืออาจจะเขียนไปในสัญญาเสียเลยก็ได้ว่าให้สัญญานี้มีอายุ 20 ปี แต่ให้สิทธิโจทก์บอกกล่าวให้สัญญาสิ้นสุดลงได้เมื่อสัญญาครบ 10 ปี ดังนั้น การแปลความว่าจำเลยจำต้องยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาออกไปตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ต่อจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจพิจารณาความน่าพึงพอใจของโจทก์ในการบริหารงานหรือพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในระยะเวลาที่ผ่านมาเสียก่อน จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาจ้างบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความพึงพอใจและการไว้วางใจต่อกันเป็นส่วนสำคัญในการตกลงทำสัญญาด้วย อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ข้อสัญญาดังกล่าวตอนต้นมีข้อความว่า “Subject to mutual agreement” ซึ่งหมายความว่า ข้อสัญญาข้อนี้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ก็ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป คู่สัญญายึดถือเจตนาที่ต้องตรงกันของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญมากกว่าลำพังเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนข้อบังคับของบริษัทจำเลยและสัญญาผู้ถือหุ้นก็เป็นข้อกำหนดในการบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลย โดยกำหนดประเภทและจำนวนกรรมการที่จะมีอำนาจดำเนินการให้มีผลผูกพันบริษัทจำเลยในกิจการแต่ละเรื่อง มิได้มีข้อความหรือความหมายเป็นข้อผูกพันจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจำเลยจะต้องว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้บริหารจัดการโรงแรมของจำเลยต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีความประสงค์จะให้สัญญาการจัดการขยายออกอีก 10 ปี ตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ฝ่ายเดียว การขยายอายุสัญญาการจัดการจึงไม่เกิดขึ้น
การที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนตามสัญญาการจัดการและได้แนบสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลมาท้ายฟ้อง รวมทั้งอ้างเอกสารดังกล่าวในบัญชีระบุพยาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้หมายเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ในส่วนของคำแปลโจทก์จัดให้มีการรับรองว่าแปลถูกต้องกับสัญญาการจัดการ สัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษและคำแปลจึงเป็นพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนความโดยชอบ ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับได้ ส่วนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 23 ไม่ได้มีความหมายว่า หากในคดีนั้นคู่ความอ้างเอกสารภาษาต่างประเทศมาพร้อมกับคำแปลแล้ว ศาลต้องรับฟังแต่คำแปลเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า สัญญาการจัดการตามฟ้องมีผลผูกพันโจทก์จำเลยต่อไปอีก 10 ปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 จำเลยทำสัญญาการจัดการว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการและบริหารกิจการโรงแรมของจำเลยตามสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษ และคำแปล สัญญาการจัดการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลานับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 ครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ตามสัญญาระบุถึงการขยายระยะเวลาการบริหารไว้ในข้อ 3 วรรคสอง ว่า”Subject to mutual agreement, the Operator shall be entitled to extend the Operating Term for a further period of ten (10) years from the date of its expiration upon the same terms and conditions as are contained in this Agreement but without the inclusion of this Section PROVIDED ALWAYS THAT the Operator shall have given notice to the Owner on or before the 30th day of June of the tenth (10th) calendar year of the Operation Term of its intention so to extend the same.” โจทก์บริหารกิจการโรงแรมของจำเลยมาใกล้ครบ 10 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะขยายระยะเวลาการบริหารโรงแรมไปอีก 10 ปี จำเลยปฏิเสธการขยายระยะเวลาออกไปโดยอ้างว่าผู้ถือหุ้นของจำเลยไม่ได้ตกลงไว้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษเป็นพยานหลักฐาน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างถึงสิทธิของตนตามสัญญาการจัดการดังกล่าวและได้แนบสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลมาท้ายฟ้อง ตามบัญชีระบุพยานของโจทก์อันดับที่ 15 ก็อ้างสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปล เมื่อโจทก์นำสืบก็อ้างสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้หมายสัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษและคำแปล ในส่วนของคำแปลโจทก์จัดให้มีการรับรองว่าแปลถูกต้องตรงกับสัญญาการจัดการ สัญญาการจัดการฉบับภาษาอังกฤษและคำแปล จึงเป็นพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนความโดยชอบ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับได้ ส่วนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 23 ไม่ได้มีความหมายว่า หากในคดีนั้นคู่ความอ้างเอกสารภาษาต่างประเทศมาพร้อมกับคำแปลแล้ว ศาลต้องรับฟังแต่คำแปลเท่านั้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า ตามสัญญาการจัดการ ข้อ 3 วรรคสอง ดังกล่าว มีผลให้สัญญาการจัดการขยายออกไปอีก 10 ปี ทันทีที่โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขยายระยะเวลาการบริหารโรงแรมของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวทั้งหมดหาได้มีความหมายว่าจำเลยจะต้องยินยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาการจัดการทันทีไม่ เพราะไม่มีข้อความใดที่ชัดเจนพอที่จะแสดงได้ว่าการขยายอายุสัญญาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นการยากที่คู่สัญญาจะเขียนสัญญาให้ชัดเจนเช่นนั้นหรืออาจจะเขียนไปในสัญญาเสียเลยก็ได้ว่า ให้สัญญานี้มีอายุ 20 ปี แต่ให้สิทธิโจทก์บอกกล่าวให้สัญญาสิ้นสุดลงได้เมื่อสัญญาครบ 10 ปี ดังนั้น การแปลความว่าจำเลยจำต้องยอมให้โจทก์ต่ออายุสัญญาออกไปตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ต่อจำเลยโดยจำเลยไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจพิจารณาความน่าพึงพอใจของโจทก์ในการบริหารงานในระยะเวลาที่ผ่านมา หรือพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในระยะเวลาที่ผ่านมาเสียก่อน จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาจ้างบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความพึงพอใจและการไว้วางใจต่อกันเป็นส่วนสำคัญในการตกลงทำสัญญาด้วย อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ข้อสัญญาดังกล่าวตอนต้นมีข้อความว่า “Subject to mutual agreement” ซึ่งหมายถึงว่า ข้อสัญญาข้อนี้อยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ก็ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากจะมีการต่ออายุสัญญาออกไป คู่สัญญายึดถือเจตนาที่ต้องตรงกันของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญมากกว่าลำพังเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อบังคับของบริษัทจำเลย ข้อ 27 (ผ) และสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างบริษัทอันดามัน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด วายทีแอล โฮเต็ล แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ เอสดีเอ็น บีเอชดี และบริษัทจำเลย ข้อ 7 ฎ (ผ) เป็นข้อผูกพันจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจำเลยจะต้องว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้บริหารจัดการโรงแรมของจำเลยต่อไปนั้น ปรากฏว่าข้อบังคับของบริษัทจำเลย ข้อ 27 กำหนดว่า “ห้ามไม่ให้บริษัทดำเนินกิจการใด ๆ ดังต่อไปนี้เว้นแต่จะได้รับอนุมัติโดยเสียงข้างมากของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการเออย่างน้อยหนึ่ง (1) คน และกรรมการบีอย่างน้อยหนึ่ง (1) คน หรือได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละเจ็ดสิบห้า (75%) ของจำนวนหุ้นที่ออกทั้งหมดของบริษัท… (ผ) บริษัทเข้าทำสัญญาที่มีความสำคัญหรือระยะยาว หรือผิดไปจากธรรมดา หรือก่อให้เกิดภาระหนัก นอกเหนือจากสัญญาการจัดการซึ่งทำไว้กับบริษัทเจนเนอรัล โฮเต็ล แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการและดำเนินการของโรงแรมเชดี …” ส่วนสัญญาผู้ถือหุ้น ข้อ 7 ฎ กำหนดว่า “เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญานี้ หรือเว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามมิให้บริษัทดำเนินกิจการใด ๆ ดังต่อไปนี้ (และผู้ถือหุ้นแต่ละรายรับรองจะดำเนินการตามเท่าที่ทำได้ตามอำนาจที่มีอยู่ของผู้ถือหุ้นแต่ละรายเพื่อไม่ให้บริษัทดำเนินกิจการดังกล่าว) เว้นแต่จะได้รับอนุมัติโดยกรรมการเสียงข้างมากซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากผู้ถือหุ้นกลุ่ม ก. อย่างน้อย 1 คน และกรรมการจากผู้ถือหุ้นกลุ่ม ข. อย่างน้อย 1 คน หรือได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายทั้งหมดของบริษัท… (ผ) บริษัทเข้าทำสัญญาที่มีลักษณะสำคัญหรือกำหนดระยะเวลาแห่งสัญญายาว หรือเป็นกรณีไม่ปกติ หรือเป็นสัญญาที่จะก่อให้เกิดภาระสูง เว้นแต่เป็นสัญญาการจัดการซึ่งทำไว้กับบริษัทเจนเนอรัล โฮเต็ล แมเนจเมนท์ จำกัด (ตามเงื่อนไขซึ่งได้รับการอนุมัติโดย วายทีแอล) เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการและการดำเนินการของพันทรีรีสอร์ท (“โรงแรมเชดี”) …” เห็นว่า ข้อบังคับของบริษัทจำเลยและสัญญาผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นข้อกำหนดในการบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลย โดยกำหนดประเภทของกรรมการและจำนวนกรรมการที่จะมีอำนาจดำเนินการให้มีผลผูกพันบริษัทจำเลยในกิจการแต่ละเรื่อง มิได้มีข้อความหรือความหมายเป็นข้อผูกพันจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าจำเลยจะต้องว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้บริหารจัดการโรงแรมของจำเลยต่อไปอีกดังที่โจทก์อ้าง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีความประสงค์จะให้สัญญาการจัดการขยายออกไปอีก 10 ปี ตามที่โจทก์แจ้งความประสงค์ฝ่ายเดียว การขยายอายุสัญญาการจัดการจึงไม่เกิดขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share