คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ที่บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้น คำสั่งนั้นเป็นที่สุด คำสั่งที่จะเป็นที่สุดตามมาตรานี้ต้องเป็นคำสั่งในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 123 เท่านั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกร้องค่าจ้างส่วนที่จะต้องได้รับเพิ่มขึ้นจากการที่จำเลยต้องปรับค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 โจทก์ที่ 2 จึงหาจำต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 7076/2548 โดยให้เรียกโจทก์ในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในคดีนี้ว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้และให้เรียกชื่อคู่ความตามเดิม
โจทก์ที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยนับแต่วันที่เกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าการที่โจทก์ที่ 2 มิได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโจทก์ที่ 2 จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ที่บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้น คำสั่งนั้นเป็นที่สุด คำสั่งที่จะเป็นที่สุดตามมาตรานี้ต้องเป็นคำสั่งในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 123 เท่านั้น
คดีนี้ปรากฏตตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 9 ที่ 40/2548 เรื่องค่าจ้างและเงินบำเหน็จค้างจ่าย ที่โจทก์ทั้งสองกับลูกจ้างอื่นได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าองค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างและเงินบำเหน็จจึงขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง เงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างว่ามูลเหตุการค้างจ่ายค่าจ้างมาจากนายจ้างไม่ปรับโครงสร้างค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 เรื่อง การปรับอัตราค่าจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เป็นกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามขัอตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หาใช่เป็นการค้างจ่ายค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 ไม่ จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองกับลูกจ้างอื่นไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 มีเนื้อหาว่าจำเลยไม่ปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ซึ่งจำเลยเคยปฏิบัติมาโดยตลอด เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยจ่ายค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น แม้โจทก์ที่ 2 จะขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างแต่ก็เห็นได้ว่าการที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างตามที่โจทก์ที่ 2 ขอมาหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ซึ่งระบุว่า “เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของเจ้าหน้าที่องค์การค้านั้น การพิจารณาความดีความชอบในขณะใดๆ ให้องค์การค้าฯ พิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้นๆ” หรือไม่ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยจึงมิใช่การฟ้องให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 ซึ่งเป็นที่สุดเพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันแต่อย่างใด แต่เป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกร้องค่าจ้างส่วนที่จะต้องได้รับเพิ่มขึ้นจากการที่จำเลยต้องปรับค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 โจทก์ที่ 2 จึงหาจำต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์แต่โจทก์ที่ 1 มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีของโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี

Share