คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3869/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในช่วงเวลาเกิดเหตุในละแวกบ้านจำเลยมีโจรผู้ร้ายชุกชุม และก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยถูกคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ในบ้าน คืนเกิดเหตุผู้ตายได้ปีนเข้าบ้านจำเลยทางช่องลมโดยปราศจากเหตุสมควร ย่อมทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายเป็นคนร้ายและในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ตายจะมีอาวุธหรือไม่ เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดและเป็นเวลากะทันหัน ถ้าเป็นคนร้ายซึ่งจะมาทำร้ายจำเลยจริงแล้ว การที่จะให้จำเลยรออยู่จนกว่าคนร้ายจะแสดงกิริยาทำร้ายแล้ว จำเลยก็อาจได้รับอันตรายก่อนที่จะทำการป้องกันได้ทันท่วงที และจำเลยก็ยิงผู้ตายไปเพียง 1 นัด เมื่อผู้ตายล้มลงจำเลยก็มิได้ซ้ำแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายชำนาญ ชนะศักดิ์ ผู้ตาย 1 นัด โดยมีเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกผู้บริเวณใต้สะบักซ้ายและต้นคอ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 288 ริบปลอกกระสุนปืน เม็ดกระสุนปืนและหมอนรองกระสุนปืนของกลาง

จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน

ระหว่างพิจารณานายอำนวย ชนะศักดิ์ บิดานายชำนาญ ชนะศักดิ์ ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72 ลงโทษจำคุก 2 ปี ริบปลอกกระสุนปืนเม็ดกระสุนปืนและหมอนรองกระสุนปืนของกลาง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงนายชำนาญชนะศักดิ์ ผู้ตาย 1 นัด เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.4 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็โดยสำคัญผิดคิดว่าผู้ตายเป็นคนร้ายที่จะมาทำร้ายจำเลย จึงเป็นการป้องกันตัวให้พ้นจากภยันตรายที่จำเลยเข้าใจว่ามีอยู่จริงนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวพัชราวรรณจันทร์เสถียร เด็กหญิงรัตนาพร จันทร์เสถียร และนางบุญเรือน จันทร์เสถียร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากและจำเลยปิดประตูบ้านเข้านอนตั้งแต่เวลา 21 นาฬิกา ของวันที่ 30 ธันวาคม 2540 โดยปิดไฟฟ้าในบ้านหมดทุกดวงต่อมาเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นนางสาวพัชราวรรณได้ยินเสียงคนปีนเข้าห้องนอนทางช่องลมและเสียงคนพูดว่า “อย่าดัง ถ้าดังจะแทงให้ตาย” นางสาวพัชราวรรณมองดูที่ช่องลม เห็นคนกำลังปีนลงมาในห้องนอน จึงฉุดเด็กหญิงรัตนาพรหนีออกจากห้องไปหานางบุญเรือนผู้เป็นมารดาด้วยความตกใจและตะโกนบอกจำเลยซึ่งเป็นบิดาจำเลยถืออาวุธปืนลูกซองของกลางวิ่งไปที่ห้องนอนของนางสาวพัชราวรรณ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที ก็มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด และจำเลยซึ่งเปิดไฟฟ้าในห้องแล้วบอกว่ายิงถูกผู้ตายซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน เห็นว่า แม้พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยเป็นภริยาและบุตรของจำเลย แต่คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากก็ตรงไปตรงมาและสอดคล้องต้องกัน ทั้งมีรายละเอียดลำดับเรื่องราวเชื่อมโยงกันสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์ไกรนรา ไปตรวจที่เกิดเหตุและสอบถามเรื่องราวนางบุญเรือนก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์ทราบในทันที เมื่อตรวจสอบฝาผนังบ้านด้านนอก ร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์ก็พบรอยดินติดอยู่ที่ผนังบ้าน และเมื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทดลองปีนเข้าทางช่องลมก็ปรากฏว่าสามารถปีนเข้าห้องนอนของนางสาวพัชราวรรณได้สมดังที่นางบุญเรือนให้ถ้อยคำและที่ปรากฏตามคำเบิกความของนางสาวพัชราวรรณ จากลักษณะศพผู้ตายที่ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่เอวขึ้นไปพาดอยู่บนเตียงและส่วนล่างตั้งแต่ช่วงเอวลงมาพาดอยู่นอกเตียงตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์นั้นก็ส่อแสดงว่าผู้ตายมิได้ถูกยิงในขณะที่นอนอยู่บนเตียงในห้องนอนของนางสาวพัชราวรรณ จึงไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามปากมีพิรุธน่าสงสัย และเนื่องจากผู้ตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกซองสภาพบาดแผลของผู้ตายย่อมเป็นไปตามที่ปรากฏในรายงานการชันสูตรพลิกศพ เอกสารหมาย จ.4 นั้นได้ และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะมีนายจรวย ไชยพลบาล เบิกความเป็นพยานว่า ในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 3นาฬิกา ขณะนายจรวยกำลังจะออกจากบ้านไปกรีดยางในสวนยางพารามีนายเข็บจันทร์เสถียร บิดาจำเลยและจำเลยไปพบและให้นายจรวยช่วยไปนำผู้ตายซึ่งนอนอยู่ในบ้านจำเลยกลับไป แต่นายจรวยไม่ไป และต่อมาเวลาประมณ 5 นาฬิกา จึงทราบว่าผู้ตายถูกยิงตายในบ้านจำเลยซึ่งส่อแสดงว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยรู้อยู่ว่าผู้ที่ถูกตนยิงเป็นใครนั้น ก็คงเป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ของนายจรวยเท่านั้นไม่มีพยานอื่นใดสนับสนุนทั้งยังแตกต่างขัดแย้งกับคำให้การของโจทก์ร่วมบิดาผู้ตายที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.1 ว่านายจรวยเล่าให้ฟังว่าบุคคลที่ไปขอให้นายจรวยไปนำผู้ตายกลับออกจากบ้านจำเลยในคืนเกิดเหตุมีถึง 3 คน คือ นายเข็บ จำเลย และนางบุญเรือนภริยาจำเลย มิใช่มีเพียง 2 คน คือนายเข็บและจำเลยดังที่นายจรวยเบิกความ คำเบิกความของนายจรวยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อฟัง และไม่ทำให้น้ำหนักคำเบิกความของนางสาวพัชราวรรณเด็กหญิงรัตนาพรและนางบุญเรือนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเสียไป คดีจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า คืนเกิดเหตุผู้ตายได้ปีนเข้าบ้านจำเลยทางช่องลมในห้องนอนของนางสาวพัชราวรรณทำให้นางสาวพัชราวรรณตกใจ จึงฉุดเด็กหญิงรัตนาพรที่นอนอยู่ด้วยออกไปหานางบุญเรือนมารดาที่นอนอยู่นอกห้องและร้องบอกจำเลย จำเลยจึงถืออาวุธปืนไปที่ห้องนางสาวพัชราวรรณและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดเพราะมืดเนื่องจากภายในบ้านจำเลยในขณะนั้นปิดไฟฟ้าหมดสมดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ การที่ผู้ตายเข้าไปในบ้านจำเลยในยามวิกาลโดยปราศจากเหตุสมควร และได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจโทวรชาติ เหมะ พนักงานสอบสวนว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุในละแวกบ้านจำเลยมีโจรผู้ร้ายชุกชุมและก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยถูกคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ในบ้าน ย่อมทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายเป็นคนร้ายดังที่จำเลยนำสืบ และในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าคนผู้นั้นจะมีอาวุธหรือไม่ เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดและเป็นเวลากะทันหัน ถ้าเป็นคนร้ายซึ่งจะมาทำร้ายจำเลยจริงแล้ว การที่จะให้จำเลยรออยู่จนกว่าคนร้ายจะแสดงกิริยาทำร้ายแล้ว จำเลยก็อาจได้รับอันตรายก่อนที่จะทำการป้องกันได้ทันท่วงทีและจำเลยก็ยิงผู้ตายไปเพียง 1 นัด เมื่อผู้ตายล้มลงจำเลยก็มิได้ยิงซ้ำแต่อย่างใด หลังเกิดเหตุจำเลยก็ไปแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมยามสายตรวจประจำหมู่บ้านและมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนในคืนนั้นทันทีไม่ได้หลบหนี การกระทำของจำเลยจึงพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ประกอบด้วยมาตรา 62วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share