คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 แม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2543ยกเลิกพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 และให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมพ.ศ. 2543 เป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม แต่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด”คดีของโจทก์จึงต้องบังคับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2537 โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ให้พัฒนาที่ดินจัดสร้างสาธารณูปโภคในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4156 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 3/79 ของโจทก์ตั้งอยู่ โจทก์จ่ายค่าจ้างพัฒนาที่ดินเรียบร้อยแล้ว และชำระค่าสาธารณูปโภคเรื่อยมาต่อมาเดือนมีนาคม 2543 โจทก์จ้างช่างมาซ่อมแซมหลังคาบ้านของโจทก์ดังกล่าว แต่ระหว่างการซ่อมแซมจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งห้ามพนักงานของจำเลยที่ 1 จ่ายน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าให้แก่บ้านของโจทก์ ทำให้การซ่อมแซมหลังคาบ้านไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 จ่ายน้ำประปาและกระแสไฟฟ้า แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้ผู้รับจ้างเข้าไปทำการซ่อมแซมหลังคาบ้านของโจทก์การซ่อมแซมจึงไม่แล้วเสร็จเป็นเหตุให้ทรัพย์สินในบ้านได้รับความเสียหายเนื่องจากฝนตก โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้สอยบ้านหลังดังกล่าวได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 98,825 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 จ่ายน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าให้แก่บ้านเลขที่ 3/79 หมู่ที่ 2 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาของโจทก์และยอมให้โจทก์นำผู้รับจ้างเข้าไปซ่อมแซมบ้านดังกล่าวจนแล้วเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สัปดาห์ละ 6,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะซ่อมแซมหลังคาบ้านเสร็จเรียบร้อย

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายน้ำประปาและกระแสไฟฟ้าให้แก่บ้านเลขที่ 3/79 หมู่ที่ 2 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาของโจทก์ และยอมให้โจทก์นำผู้รับจ้างของโจทก์เข้าไปในโครงการบ้านเขาใหญ่เพื่อซ่อมแซมบ้านหลังดังกล่าวจนแล้วเสร็จ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 22 กำหนดให้ ในศาลชั้นต้นผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้นดังต่อไปนี้…(6) พิจารณาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกิน40,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท… และวรรคท้าย กำหนดให้ ในคดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีแต่เพียงอำนาจพิจารณา ไม่มีอำนาจพิพากษาตาม…(6) เมื่อจะพิพากษาคดีจะต้องมีผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย คดีนี้มีจำนวนเงินที่ฟ้อง 98,825บาท ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีเพียงพิจารณา แต่ไม่มีอำนาจพิพากษาคดีนี้ แม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ยกเลิกพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมพ.ศ. 2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวและให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 25(4) กำหนดให้ ในศาลชั้นต้นผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน300,000 บาท ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า “บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” คดีนี้จึงต้องบังคับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คือ จะต้องให้ผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วยดังนั้น การที่คดีนี้ในศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงลายมือชื่อในคำพิพากษาจึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (เดิม) มาตรา 22(6)และวรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 และกรณียังไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไป”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ

Share