คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อความในคำแถลงเปิดคดีของจำเลยมาเป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ เห็นได้ว่า ฎีกาของโจทก์หาได้แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งไม่ว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อความข้อใดบ้างในคำแถลงเปิดคดีของจำเลยซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนมาเป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 195 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 รับเป็นฎีกาไว้พิจารณาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่าโจทก์เช่าบ้านจำเลยที่ ๑ – ๒ เพื่ออยู่อาศัย ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน ต่อมาจำเลยที่ ๑ – ๒ ประสงค์จะให้บ้านผู้อื่นเช่าเพราะได้ค่าเช่าแพง จึงให้โจทก์ส่งบ้านคืน โจทก์ยังหาบ้านที่เหมาะสมไม่ได้ จึงให้จำเลยรอเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๐๖ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ – ๒ มีเจตนาบีบบังคับขืนใจให้โจทก์ออกจากบ้าน ได้ให้เจ้าพนักงานไฟฟ้าตัดสายไฟเสีย เป็นเหตุให้บ้านโจทก์ไม่มีแสงสว่าง และใช้พลังงานไฟฟ้าในการใช้พัดลมเตารีดผ้า ฯ เป็นการทำให้โจทก์และครอบครัวต้องเสียเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ค่าท้าทายหมิ่นประมาทโจทก์ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๖ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑,๒,๓ ได้บุกรุกเข้าไปในบ้านเอาโซ่ล่ามใส่กุญแจที่สำหรับปิดเปิดน้ำประปาเพื่อไม่ให้ใช้บริโภคเป็นการทารุณร้ายกาจปราศจากมนุษย์ธรรม อันไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เหตุเกิดตำบลดุสิต อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙,๓๒๖,๓๖๒ และมาตรา ๓๖๕
ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีสิทธิขอให้การไฟฟ้างดจ่ายกระแสไฟฟ้าบ้านโจทก์ได้ ไม่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียเสรีภาพประการใด ข้อหาบุกรุกและหมิ่นประมาทไม่มีพยานรู้เห็น คดีโจทก์ไม่มีมูลทุกข้อ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อ ๓ และข้อ ๔ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายฎีกาข้อ ๓ ของโจทก์มีใจความสำคัญว่า ศาลล่างทั้งสองรับฟังข้อความในคำแถลงเปิดคดีของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อ ๔ ของโจทก์มีใจความสำคัญว่า คำแถลงเปิดคดีของจำเลยยืดยาว ๑๑ – ๑๒ หน้ากระดาษพิมพ์ ล้วนแต่ใส่ข้อเท็จจริงเข้าไปจนหมดสิ้น ยิ่งกว่าที่ศาลได้ไต่สวนเสียอีก ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อสำคัญแห่งคดีทั้งสิ้น
ปรากฏว่า ก่อนสืบพยานโจทก์ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยได้ยื่นคำแถลงการณ์เปิดคดี ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งว่าให้รับหรือไม่รับเป็นคำแถลงการณ์เปิดคดี เป็นแต่สั่งว่า “ส่งสำเนาให้โจทก์” เท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์หาได้แสดงให้เป็นโดยชัดแจ้งว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อความข้อใดบ้างในคำแถลงเปิดคดีของจำเลยมาเป็นข้อเท็จจริงในการพิจารณาวินิจฉัยคดีโดยไม่มีปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวน เมื่อเป็นเช่นนี้ ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญาัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ไม่ให้รับเป็นฎีกา
ศาลฎีกาจะรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ ให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย.

Share