แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์จำเลยครอบครองมาด้วยความสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยที่ 1 รื้อคันนาจากหลักไม้หมายเลย 2 ถึงหลักไม้หมายเลข 3 ในแผนที่พิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึง 8 รื้อรั้วที่ทำไว้ในที่ดินของโจทก์ออกไปด้วย ดังนี้ เป็นแก้ไขมาก
จำเลยให้การว่า เดิมที่นาพิพาทจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยได้ครอบครองมีเขตคันเป็นส่วนสัดมาโดยสงบและเปิดเผยติดต่อตลอดมาทุกปีเป็นเวลา 30 ปีเศษ ทางพิจารณาได้ความว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แต่จำเลยครอบครอง ถือว่าเป็นการต่อสู้ว่าครอบครองทรัพย์ของโจทก์โดยปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว
การครอบครองปกปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ผู้ครอบครองจะรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่นหรือไม่ ไม่สำคัญ ย่อมได้กรรมสิทธิ์เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญติไว้เป็นอย่างอื่น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๗๕๙๑ จำเลยที่ ๑ ตั้งคันนารุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๓ ถึง ๘ บุกรุกเข้ามาตัดฟันไม้ไผ่และโค่นไม้ของโจทก์ จำเลยที่ ๑ – ๒ นำจำเลยที่ ๑, ๒, ๔, ๕, ๙ และ ๑๐ ได้นำหลักหินมาปักบนคันนาของโจทก์ ขอให้จำเลยรื้อถอนออกไปและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑- ๒ ให้การว่า เนื้อที่ดินที่โจทก์หาว่าจำเลยทำรั้วรุกล้ำเป็นของจำเลยที่ ๑ – ๒ จำเลยที่ ๑ – ๒ ครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันมาเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ จำเลยที่ ๓ – ๘ ว่าไม่ได้ตัดฟันเป็นจำนวนที่โจทก์ฟ้อง และเป็นไม้ที่อยู่ในที่ดินจำเลยที่ ๑ – ๒ ส่วนจำเลยที่ ๙ – ๑๐ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ ครอบครองที่พิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า ๑๐ ปี แม้จะฟังว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จำเลยที่ ๑ – ๒ ก็ได้กรรมสิทธิ์ คดีโจทก์ขาดอายุความ และจำเลยที่ ๙ – ๑๐ ปักหลักเขตในแนวเขตของจำเลยที่ ๑ – ๒ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เขตที่ดินของโจทก์ตรงมุมตะวันตกเฉียงเหนือจดหลักไม้ ล.ม.๔ ในแผนที่พิพาท และมีเขตเป็นเส้นตรงลงมาทางทิศใต้ จดหลักไม้หมายเลข ๒ และจำเลยต่อสู้เพียงว่า จำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยมา ๓๐ ปี หาได้อ้างว่าครอบครองที่ดินของผู้อื่นไม่ คดีจึงไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัย คดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ ให้จำเลยที่ ๑ รื้อคันนาจากหลักไม้หมายเลข ๒ ถึงหลักไม้หมายเลข ๓ ในแผนที่พิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ถึง ๘ รื้อรั้วที่ทำไว้ในที่ดินของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ถึง ๘ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขมาก ฎีกาจำเลยไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘
จำเลยที่ ๑ ถึง ๘ ฎีกาว่า คดีมีประเด็นที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ๓ ประการ คือ :-
๑. ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์หรือของจำเลยที่ ๑ – ๒
๒. ที่ดินพิพาท โจทก์หรือจำเลย(ที่ ๑ – ๒) เป็นผู้ครอบครองมา
๓. ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นข้อครอบครองที่จำเลย(ที่ ๑ – ๒) ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้นั้น เป็นการชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นควรยกประเด็นข้อที่ ๒ – ๓ ขึ้นวินิจฉัยก่อน เห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำให้การปรากฏชัดว่า ที่ดินของโจทก์กับของจำเลยที่ ๑ – ๒ มีโฉนดด้วยกัน และมีเขตติดต่อกันเฉพาะที่พิพาทก็อยู่ตรงเขตติดต่อกัน ที่จำเลยที่ ๑ – ๒ ให้การว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดจำเลย จำเลยได้ครอบครองมามีเขตคันเป็นส่วนสัดครอบครองมาโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันมาเป็นเวลา ๒๐ ปีเศษ นั้น จำเลยที่ ๑ – ๒ อาจเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย และอยู่ในเขตโฉจดของจำเลยก็ได้ จึงได้ให้การต่อสู้ไปตามนั้น ถ้าที่พิพาทเป็นไปตามจำเลยเข้าใจก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ ปัญหาจึงเกิดตามขึ้นมาว่าคำให้การของจำเลยที่ ๑ – ๒ ดังกล่าวมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าแต่เดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ ที่พิพาทก็ไม่ใช่ของจำเลย และถ้าจำเลยที่ ๑ – ๒ ครอบครองที่พิพาท ก็ได้ชื่อว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น(โจทก์) เป็นการตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ อยู่ในตัว การครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ เป็นวิธีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นวิธีหนึ่งผู้ครอบครองจะรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่นหรือไม่ ไม่สำคัญ ย่อมได้กรรมสิทธิ์เสมอไป เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เฉพาะกรณีนี้ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ จะครอบครองที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ ๑ – ๒ ให้การดังกล่าว คือได้ว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ ได้ยกข้อเท็จจริงเรื่องการครอบครองและยกอายุความการได้สิทธิจนได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทขึ้นต่อสู้โจทก์แล้ว คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ ได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์จริงหรือไม่ ซึ่งจำต้องวินิจฉัยต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ควรจะได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่ได้พิพากษาในประเด็นข้อ ๓ – ๒ เสีย แล้วคืนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาประเด็นข้อ ๒ ตามรูปคดีต่อไปใหม่