คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ ภายหลังได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมสละสิทธิยกที่พิพาทให้แก่ผู้มีชื่อตามสัญญายอม และศาลได้ออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องมอบและโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทให้แก่ผู้มีชื่อนั้น ถึงแม้จำเลยจะยังครอบครองที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกิน 1 ปี ก็มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหว่านข้าวและไถกลบในลำรางหน้าที่ดินโจทก์ เป็นการกีดขวางทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถออกไปสู่ทางสาธารณะได้สะดวกและจำเลยยังบุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของโจทก์อีกด้วย ขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบริวาร ให้รื้อถอนต้นข้าวของจำเลยออกและห้ามทำนากีดขวางหน้าที่ดินโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยครอบครองมาและที่ดินบางส่วนกรมทางหลวงแผ่นดินให้จำเลยอาศัยทำกิน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าที่พิพาทนี้จำเลยตกลงยกให้นายแปลกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่จำเลยก็ยังคงครอบครองตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปีแล้ว นายแปลกหมดสิทธิที่จะเรียกคืนจากจำเลย เพราะเป็นที่ดินมือเปล่าโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิจากนายแปลกจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จะขับไล่จำเลยไม่ได้ส่วนที่ดินสามเหลี่ยมเหนือเขตที่ดินฟังประมาณ ๓ ศอก โจทก์เป็นผู้ครอบครองเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ยังครอบครองที่พิพาท ภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินดังกล่าวให้นายแปลกโดยไม่ยอมเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ ๑ ให้นายแปลกนั้น จะถือว่าจำเลยที่ ๑ เข้าแย่งการครอบครองจากนายแปลกไม่ได้ โจทก์รับโอนจากนายแปลกมายังไม่ถึงปี จำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้สิทธิครอบครอง พิพากษาแก้ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร และให้จำเลยรื้อถอนต้นข้าวออกจากที่พิพาทด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทซึ่งจำเลยที่ ๑ ครอบครองมา จำเลยที่ ๑ ได้ยอมสละสิทธิยกให้นายแปลกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลได้ออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องมอบและโอนสิทธิครอบครองในที่นั้นให้นายแปลก ฉะนั้น ถึงแม้จำเลยจะยังครอบครองที่พิพาทตลอดมาเป็นเวลาเกิน ๑ ปี ก็มิใช่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ เพราะจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนแล้ว และคดีโจทก์ไม่มีทางจะขาดอายุความตามมาตรา ๑๓๗๕ ดังกล่าวด้วย
พิพากษายืน

Share