คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายต่อมาโจทก์ที่ 1 และผู้ตายต่างย้ายภูมิลำเนาจากที่เดิมไปอยู่ที่อื่นซึ่งเป็นคนละแห่งกันโดยมิได้มีการติดต่อเยี่ยมเยียนหรือส่งข่าวคราวให้แก่กันเลยเป็นเวลานานหลายปี จึงถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้รับข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การที่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมในระหว่างที่แยกกันอยู่กับโจทก์ที่ 1เช่นนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของนางมาลีฐิตะฐาน โจทก์ที่ 2 เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางมาลีและมีพี่น้องอีก 4 คน คือ นายกวี อักษรสุวรรณ นายบรรจงอักษรสุวรรณ นางมณฑา บุญญพัฑฒนะ และนางเกษร โชติดำรงค์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2525 นางมาลีถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม มีทรัพย์มรดกหลายรายการรวมทั้งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95464 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมราคาประมาณ 400,000 บาท ซึ่งจะต้องตกทอดแก่ทายาท คือ โจทก์ที่ 1 ในฐานะสามีและโจทก์ที่ 2 ในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดา กับพี่น้องร่วมบิดามารดาของนางมาลี ทั้ง 4 คนดังกล่าวมาเท่านั้น แต่ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1ผู้เป็นสามีเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25จำเลยจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายนายสุทัศน์ สายมณี ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาลจังหวัดยะลา และศาลอนุญาตตามคำขอ โจทก์จึงได้ฟ้องนายสุทัศน์ขอเพิกถอนผู้จัดการมรดก ปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ 214/2526 ของศาลจังหวัดยะลา ในขณะนายสุทัศน์เป็นผู้จัดการมรดก นายสุทัศน์และในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2526 เป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดก การที่จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นลาภมิควรได้ ต้องคืนแก่โจทก์หรือกองมรดก ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์หรือแก่กองมรดกของผู้ตายหากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่สามีของผู้ตายในขณะที่ผู้ตายรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ 1จึงไม่มีอำนาจฟ้องและระหว่างผู้ตายอุปการะเลี้ยงดูจำเลย จำเลยไม่เคยทราบว่าโจทก์ที่ 2 เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาของผู้ตายผู้ตายอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตั้งแต่จำเลยอายุ 2 เดือน โดยมีนายสุทัศน์เป็นสามี จำเลยอยู่กับผู้ตายจนถึงแก่กรรม และเป็นผู้รับศพผู้ตายมาทำพิธีทางศาสนาที่กรุงเทพมหานครจนเสร็จตลอดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยไม่เคยพบกับโจทก์ที่ 1 แม้โจทก์ที่ 1กับผู้ตายจะเคยเป็นสามีภรรยากัน โจทก์ก็ได้ออกไปจากบ้านที่จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ อันเป็นภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่แล้วไม่กลับมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงขาดจากความเป็นสามีของผู้ตาย หลังจากที่โจทก์ได้ไปจากผู้ตายเป็นเวลาหลายปีผู้ตายจึงย้ายไปอยู่จังหวัดยะลาและอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายสุทัศน์ แล้วจึงรับจำเลยมาอุปการะ ต่อมาผู้ตายมีบุตรกับนายสุทัศน์ 1 คน ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้ตายซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ตายที่ได้มาระหว่างอยู่กินกับนายสุทัศน์ จำเลยมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายก่อนทายาทอื่น ๆ และจำเลยได้รับโอนมาโดยชอบด้วยกฎหมายกับได้จดทะเบียนถูกต้อง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่ทราบการตายของผู้ตาย คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนแก่กองมรดกของผู้ตาย หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นสามีผู้ตาย จดทะเบียนสมรสกัน ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2501นายสุทัศน์เพียงแต่อยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ตาย ส่วนโจทก์ที่ 2เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม2525 ระหว่างผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ได้จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยความยินยอมของนายสุทัศน์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2525 ผู้ตายถึงแก่กรรม มีที่ดินพิพาทราคาประมาณ 400,000 บาท เป็นมรดกส่วนหนึ่งของผู้ตาย นายสุทัศน์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาลจังหวัดยะลา ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งแต่งตั้งให้นายสุทัศน์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องนายสุทัศน์ต่อศาลจังหวัดยะลาขอให้เพิกถอนนายสุทัศน์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลจังหวัดยะลาพิพากษาให้โจทก์ที่ 1และนายสุทัศน์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 214/2526 หมายเลขแดงที่ 225/2527 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2526 ขณะที่นายสุทัศน์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงผู้เดียวได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า ขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีอันเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/25 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เดิมโจทก์ที่ 1 กับผู้ตายอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมา พ.ศ. 2508ผู้ตายได้ย้ายไปอยู่จังหวัดปัตตานี โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ติดตามคงอยู่ที่เดิม แล้วต่อมาโจทก์ที่ 1 ย้ายไปอยู่กรุงเทพมหานครผู้ตายอยู่จังหวัดปัตตานีจนถึง พ.ศ. 2511 ก็ย้ายไปอยู่จังหวัดยะลา โจทก์ที่ 1 ไม่เคยไปเยี่ยมเยียนผู้ตายเลย ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าผู้ตายกับนายสุทัศน์ได้อยู่กินฉันสามีภรรยาตั้งแต่ พ.ศ. 2511ตลอดมาที่จังหวัดยะลา ผู้ตายรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่จำเลยอายุได้ 2 เดือน จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 จึงจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งมีนายสุทัศน์ลงชื่อให้ความยินยอมในฐานะสามีผู้ตาย เห็นว่าข้อนำสืบของโจทก์เจือสมข้อนำสืบของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่า ผู้ตายไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายสุทัศน์ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 โดยโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้ตายต่อไป และได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยมิได้แจ้งให้ผู้ตายทราบ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 อีกว่า ตอนผู้ตายป่วยและแม้งานศพผู้ตายโจทก์ที่ 1ก็ไม่ทราบ มาทราบจากญาติผู้ตายแจ้งให้ทราบเมื่อ พ.ศ. 2526ทั้งที่ผู้ตายถึงแก่กรรมในวันที่ 3 กันยายน 2525 แสดงว่าโจทก์ที่ 1กับผู้ตายไม่ได้มีการติดต่อกันเลย นายกวี อักษรสุวรรณน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ที่ใดพยานไม่ทราบ และบรรดาญาติพี่น้องก็ไม่มีผู้ใดบอกว่าโจทก์ที่ 1 อยู่ที่ใด แสดงว่าโจทก์ที่ 1 มิได้มีการติดต่อกับญาติผู้ตายเลย โจทก์ที่ 1 เองก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าผู้ตายทราบที่อยู่ของโจทก์ที่ 1 เป็นอย่างดี ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2525 ที่มีการจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share