คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4086/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยทั้งสองรู้ว่าโรงงานที่จำเลยทั้งสองทำงานเป็นโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม้สักแปรรูปที่ใช้ทำเครื่องประดิษฐ์เป็นไม้แปรรูปที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่จำเลยทั้งสองยังยินยอมทำงานเป็นลูกจ้างของเจ้าของโรงงาน ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าของโรงงาน กระทำความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้และฐานมีสิ่งประดิษฐ์อันทำด้วยไม้หวงห้าม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 7, 48, 53 ทวิ, 53 ตรี, 73, 73 ทวิ, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวาพระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7, 19, 21, 27, 28พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 8, 9พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบของกลางทั้งหมดกับสั่งจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมายด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48 วรรคแรก, 53 ทวิ, 53 ตรี, 73 วรรคสอง,73 ทวิ, 74, 74 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานสนับสนุนตั้งโรงงานแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานสนับสนุนมีสิ่งประดิษฐ์จำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน รวมสองกระทงจำคุกคนละ 1 ปี 12 เดือนริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แสดงว่าคนงานรู้ว่าโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานที่ไม่ได้ตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และรู้ว่าไม้สักแปรรูปที่ใช้ทำบานประตูหน้าต่างเป็นไม้ที่ไม่มีรอยตราของเจ้าพนักงานเป็นไม้แปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคนงานก็ต้องรู้เช่นเดียวกัน และที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมก็เพราะตกตะลึงหลบหนีไม่ทัน…ปัญหาที่จำเลยฎีกาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานสนับสนุนตั้งโรงงานแปรรูปไม้และมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้หวงห้ามหรือไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองรู้ว่าโรงงานที่จำเลยทั้งสองทำงานเป็นโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม้สักแปรรูปที่ใช้ทำเครื่องประดิษฐ์เป็นไม้แปรรูปที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสองยังยินยอมทำงานเป็นลูกจ้างของเจ้าของโรงงาน เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าของโรงงานกระทำความผิดต่อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงให้การสนับสนุนแก่เจ้าของโรงงานในการกระทำผิด โดยจำเลยเป็นลูกจ้างเจ้าของโรงงานดังกล่าวเท่านั้น จำเลยมิใช่เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดเอง พฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีอีกสักครั้งหนึ่ง โดยการรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share