คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ดำเนินการใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยทั้งสองฝ่ายรับว่า ที่ดินพิพาทมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมด้วย ศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายให้โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และเจ้าของรวมคนอื่น โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวให้การว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นเจ้าของรวม จำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจึงปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วน จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของจำเลยที่ 3 ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ โดยที่จำเลยที่ 3 มิได้ให้ความยินยอมและมิได้เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนสัญญา ดังกล่าวไม่ผูกพันกรรมสิทธิ์ ส่วนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ขอเพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้ ในระหว่างพิจารณาของคดี ดังกล่าว โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมเพื่อให้ศาลพิพากษาตามยอมว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาท ทำให้โจทก์ซึ่งเป็น เจ้าหนี้เสียเปรียบและเสียหาย และศาลฎีกาได้พิจารณาคดีดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท 3 ใน 7 ส่วนพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิของจำเลยที่ 3 โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวจึงผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยอื่นร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว อันเป็นการอ้างข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ต้องผูกพันหาได้ไม่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงที่ว่าจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ของศาลจังหวัดสระบุรี และคำพิพากษาคดีดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๕ ระหว่างจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ของศาลจังหวัดสระบุรี ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๕๐๐ บาท
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน โดยกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้น ซึ่งให้จำเลยทั้งสี่ใช้แทนโจทก์ ๓,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ไถ่ถอนจำนองที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของ ศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดสระบุรีขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ไปดำเนินการใส่ชื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าว วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๕ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๑ ว่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าที่ดินโฉนดดังกล่าวนั้นเป็นของจำเลยที่ ๒ จำนวน ๓ ส่วน จำเลยที่ ๓ จำนวน ๓ ส่วน จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ จำนวน ๑ ส่วน ตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ จะไปดำเนินการจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถือกรรมสิทธิ์รวมตามส่วนดังกล่าว ศาลจังหวัดสระบุรีพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ของศาลจังหวัดสระบุรี หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ ฟ้องจำเลยที่ ๑ และโจทก์ต่อศาลแพ่งว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยไม่ได้รับความ ยินยอมจากจำเลยที่ ๓ และเจ้าของรวมคนอื่น ขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ ในคดีนั้นโจทก์ให้การว่าจำเลยที่ ๓ มิได้เป็นเจ้าของรวม จำเลยที่ ๓ เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทน จำเลยที่ ๓ จึงปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียวระหว่างพิจารณาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาคดีดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ เป็น เจ้าของรวมในที่ดินพิพาท ๓ ใน ๗ ส่วน จำเลยที่ ๑ นำที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งส่วนของจำเลยที่ ๓ ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ ๓ และเจ้าของรวมคนอื่นมิได้ให้ความยินยอมและมิได้เชิดจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทน สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้ พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ฉบับลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของจำเลยที่ ๓ จำนวน ๓ ใน ๗ ส่วน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๘๕/๒๕๔๑ เมื่อโจทก์เป็นคู่ความในคดี ดังกล่าว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ของศาลจังหวัดสระบุรี โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยอื่นได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ แสดงเจตนาลวงและฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว อันเป็นการอ้าง ข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ต้องผูกพันหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ในการฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็น ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖, ๒๔๗ คดีจึงไม่ จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์และฎีกาศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ ๑ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบมาตรา ๒๔๗
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share