คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10251/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การประเมินค่ารายปีและภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลย และคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับโรงเรือนพิพาทตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาสัญญาการให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการซึ่งเป็นโรงเรือนพิพาทที่ปรากฏในสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้รับค่าใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวนั้น มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับการเช่า เพราะเป็นสัญญาที่ตกลงให้คู่สัญญาสามารถใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินและคู่สัญญาต้องเสียค่าตอบแทนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ค่าใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับจึงเป็นเพียงค่าเช่าบางส่วน การที่จำเลยกำหนดค่ารายปีสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าที่โจทก์ได้รับ นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว เป็นการวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วปรับกับข้อกฎหมายตามประเด็นข้อพิพาท จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็นพิพาทตามที่โจทก์อุทธรณ์
โจทก์ทำสัญญาให้บริษัท ฮ. เข้าเป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเพื่อจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของโจทก์ โดยสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการดังกล่าวมีเงื่อนไขในสัญญาว่า โจทก์อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวเข้าเป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของโจทก์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี เครื่องหมายการค้า เทคนิคการบริหาร การตลาดและการใช้เครื่องบริภัณฑ์ และระบบต่าง ๆ ของโจทก์ โดยบริษัทดังกล่าวต้องจ่ายค่าใช้สิทธิในสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 85,000 บาท และแต่ละเดือนบริษัทดังกล่าวต้องซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่น้อยกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ในสัญญา มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับตามอัตราที่ตกลงกัน นอกจากนี้ผู้ใช้บริการมีเพียงสิทธิอาศัยในสถานีบริการน้ำมันและที่ดินโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน สัญญาดังกล่าวไม่ได้มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับการเช่า ไม่อาจถือได้ว่าค่าใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวรวมค่าเช่าโรงเรือนรวมอยู่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขใบแจ้งรายการประเมิน เล่มที่ – เลขที่ , ๑๓๑ – ๑ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ , ๕๘ – ๒๐ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๒ , ๒๔ – ๒๒ , ๒๒ – ๑๘ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๒ , ๔๙ – ๑๒ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๒ , ๔๕ – ๑๒ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ และใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ ๒๓ เลขที่ ๙๔ , ๙๕ , ๑๐๐ , ๗๖ และเล่มที่ ๒๔ เลขที่ ๒ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ตามลำดับ โดยกำหนดค่ารายปีใหม่ตามที่โจทก์ฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินภาษี ๕๓๗,๗๒๘.๗๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์จำนวน ๓๓๖,๔๙๖.๕๐ บาท ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ครบกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าค่าใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับจากบริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด นั้นเป็นค่าเช่าส่วนหนึ่งและนำมากำหนดเป็นค่ารายปี เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาจากสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการเอกสารหมาย ล. ๓ แผ่นที่ ๑๘ ถึง ๒๖ แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้รับค่าใช้สิทธิจากบริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด นั้น มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับการเช่า เพราะเป็นสัญญาที่ตกลงให้คู่สัญญาสามารถใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินและคู่สัญญาต้องเสียค่าตอบแทนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ค่าใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับตามสัญญาจึงเป็นเพียงค่าเช่าบางส่วน การที่จำเลยกำหนดค่ารายปีสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ ๓๒/๕๖๓ ถนนสุขาภิบาล ๑ แขวงคันนายาว เดือนละ ๘๐,๘๕๐.๕๐ บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าเช่าที่โจทก์ได้รับ นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อย่างยิ่งแล้ว การประเมินของจำเลยและคำชี้ขาดของผู้ว่ากรุงเทพมหานครจึงชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วปรับกับข้อกฎหมายตามประเด็นข้อพิพาท จึงมิได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาทตามที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองว่า การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีรวมทั้งคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ ๓๒/๕๖๓ ถนนสุขาภิบาล ๑ แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร นั้น ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า สถานีบริการน้ำมันของโจทก์ดังกล่าวโจทก์ได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด เข้าเป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเพื่อจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของโจทก์โดยบริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด ต้องจ่ายค่าใช้สิทธิในสถานีบริการน้ำมันเดือนละ ๘๕,๐๐๐ บาท โดยมีเงื่อนไขในสัญญาว่าหากบริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด ซื้อน้ำมันของโจทก์ไปจำหน่ายน้อยกว่าที่ตกลงไว้จะต้องถูกปรับลิตรละ ๑๕ สตางค์ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าเงินค่าใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันที่โจทก์ได้รับจากบริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด นั้น ไม่ใช่ค่าเช่าและเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้จึงคำนวณค่ารายปีตามลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับโดยคิดเป็นค่ารายปีเฉลี่ยตารางเมตรละ ๒๔.๕๕ บาท ต่อเดือน คิดเป็นค่ารายปีสำหรับปี ๒๕๔๑ จำนวน ๑,๐๘๐,๒๐๐ บาท คิดเป็นค่าภาษี ๑๓๕,๐๒๕ บาท สำหรับปีภาษี ๒๕๔๒ คิดเป็นค่ารายปีจำนวน ๑,๑๗๘,๔๐๐ บาท ค่าภาษี ๑๔๗,๓๐๐ บาท ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดค่ารายปีให้ใหม่สำหรับปี ๒๕๔๑ คิดเป็นค่ารายปีจำนวน ๘๘๙,๓๕๕.๕๐ บาท ค่าภาษีจำนวน ๑๑๑,๑๖๙.๔๔ บาท สำหรับปี ๒๕๔๒ ค่ารายปีจำนวน ๙๗๐,๒๐๖ บาท ค่าภาษีจำนวน ๑๒๑,๒๗๕.๗๕ บาท ส่วนโจทก์เห็นว่าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ดังกล่าวควรมีค่ารายปีปีละ ๔๖๔,๕๕๘.๖๐ บาท ค่าภาษี ๕๘,๐๖๙.๘๐ บาท เห็นว่า ตามสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการ เอกสารหมาย ล. ๓ แผ่นที่ ๑๘ ถึง ๒๖ เป็นเรื่องที่โจทก์อนุญาตให้บริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด เข้าเป็นผู้ดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเพื่อจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของโจทก์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยี เครื่องหมายการค้า เทคนิคการบริหาร การตลาดและการใช้เครื่องบริภัณฑ์ และระบบต่าง ๆ ของโจทก์ โดยบริษัทดังกล่าวต้องจ่ายค่าใช้สิทธิในสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน และแต่ละเดือนบริษัทดังกล่าวต้องซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่น้อยกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ในสัญญา มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับตามอัตราที่ตกลงกัน นอกจากนี้ผู้ใช้บริการมีเพียงสิทธิอาศัยในสถานีบริการน้ำมันและที่ดินโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน สัญญาดังกล่าวจึงไม่ได้มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับการเช่า และไม่อาจถือได้ว่าค่าใช้สิทธิตามสัญญาดังกล่าวรวมค่าเช่าโรงเรือนอยู่ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ค่าใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับเป็นค่าเช่าส่วนหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาต่อไปมีว่า ค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทควรเป็นเท่าใด ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าเงินค่าใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันที่โจทก์ได้รับจากบริษัทไฮ – ปิโตร จำกัด นั้นไม่ใช่ค่าเช่า จึงคำนวณค่ารายปีตามลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับ โดยนำค่าเช่าที่ดินที่โจทก์ชำระให้เจ้าของที่ดินมารวมคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของค่ารายปีด้วย คิดเป็นค่ารายปีเฉลี่ยเป็นเงิน ๒๔.๔๕ บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน โจทก์ยื่นคำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่โดยอ้างว่าโรงเรือนใกล้เคียงกับโรงเรือนพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีเฉลี่ยในอัตรา ๒๐.๑๗ บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำหนดค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทดังกล่าวใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เห็นว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่าเช่าที่ดินที่โจทก์ชำระให้เจ้าของที่ดินมากำหนดเทียบเป็นค่ารายปีไม่ถูกต้อง การกำหนดค่ารายปีต้องพิจารณาจากสภาพแวดล้อมและโรงเรือนใกล้เคียง รวมทั้งบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้ประโยชน์ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการนำโรงเรือนมาเทียบประกอบการพิจารณากำหนดค่ารายปี จึงกำหนดค่ารายปีเฉลี่ย ๒๐.๒๐ บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เป็นค่ารายปี ๙๗๐,๒๐๖ บาท เห็นว่า โรงเรือนของโจทก์และที่ดินต่อเนื่องมีพื้นที่ ๔,๐๐๒ ตารางเมตร ผู้ว่าราชการของจำเลยกำหนดค่ารายปีใหม่คำนวณเฉลี่ยเป็นค่ารายปี ๒๐.๒๐ เมตร ต่อตารางเมตรต่อเดือน ใกล้เคียงกับค่ารายปีโดยเฉลี่ยของโรงเรือนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกับโรงเรือนพิพาท จึงเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์เกี่ยวกับโรงเรือนพิพาทดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share