คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อคดีโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า โจทก์มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่จำต้องมีการรับรองให้อุทธรณ์ จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ แต่การที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาลที่สั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นฎีกาในข้อเท็จจริงประเด็นเดียวกับที่อุทธรณ์ และได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรอง แต่ไม่มีผู้ใดรับรองให้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นจึงต้องถือว่าประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ตามที่ได้กำหนดไว้ดังกล่าว และจำเลยย่อมนำสืบให้ปรากฏได้ว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของผู้อื่นที่มิใช่โจทก์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์และสามีจำเลยต่างครอบครองและถือสิทธิในบ้านพิพาทเป็นส่วนสัดแยกจากกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีแล้ว ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองบ้านเลขที่ 122/18โดยได้รับการโอนให้จากนางถมยา ยินดี แต่ก่อนที่จะได้รับการโอนให้ดังกล่าวนั้นนายประสิทธิ์ จันทรเดชา ได้มาขออาศัยแบ่งห้องในบ้านดังกล่าวเป็นที่พักอาศัย ต่อมานายประสิทธิ์ได้นำจำเลยซึ่งเป็นภริยาเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย ภายหลังจำเลยและนายประสิทธิ์ได้หย่าร้างกันและนายประสิทธิ์ได้ขนย้ายออกจากบ้านดังกล่าวไป คงปล่อยให้จำเลยพักอาศัยในบ้านพิพาท โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายและออกจากบ้านพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากนำบ้านดังกล่าวให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,500บาท แต่โจทก์ขอคิดเดือนละ 4,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายออกจากห้องบ้านพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันที่ 21กรกฎาคม 2539 จนกว่าจำเลยจะขนย้ายออกจากห้องพิพาทและส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย

จำเลยให้การว่า บ้านพิพาทเดิมเป็นของนายทองสุข ยินดี บิดาของนายประสิทธิ์สามีของจำเลยซึ่งเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยจากนายบุญเลิศ ศิลปเดช และนายทองสุขได้อนุญาตให้นายประสิทธิ์และครอบครัวอยู่อาศัยตลอดมา ต่อมาเมื่อนายทองสุขถึงแก่กรรม นางถมยาซึ่งเป็นภริยาได้รับกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท และยังคงอนุญาตให้นายประสิทธิ์และครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว โดยนายประสิทธิ์เป็นผู้ชำระค่าเช่าให้แก่เจ้าของที่ดิน การที่นายประสิทธิ์และจำเลยซึ่งเป็นภริยาอยู่อาศัยที่บ้านดังกล่าว จึงเป็นการอยู่ตามสัญญาเช่า

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและมีคำสั่งให้รับไว้พิจารณารวม 4 ข้อ คือ ข้อ 2.1.2ข้อ 2.1.3 ข้อ 2.2 และข้อ 2.3 เฉพาะในส่วนที่ได้สรุปไว้ในคำสั่งดังกล่าว สำหรับข้อ 2.1.2 ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ขอให้องค์คณะผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาถือได้ว่าโจทก์ได้รับการรับรองให้อุทธรณ์แล้ว นั้น ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขอให้รับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ของโจทก์ว่า “เนื่องจากคดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่จำต้องมีการรับรองให้อุทธรณ์ ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ” และสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นเข้ามาพร้อมกับคำร้องดังกล่าวว่า”รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้… ฯลฯ” เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า โจทก์มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้หรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่จำต้องมีการรับรองให้อุทธรณ์ จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่การที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 สำหรับคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นเดียวกับที่อุทธรณ์ และได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์รับรอง แต่ไม่มีผู้ใดรับรองให้ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นในคำร้องฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ส่วนข้อ 2.1.3 ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ที่ว่า สามีจำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยส่วนหนึ่งของบ้านพิพาท เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า “อุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับการยกให้บ้านทั้งหลังมาจากนางถมยา ยินดี มารดาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม โดยจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บ้านพิพาททั้งหลังจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนสามีของจำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยส่วนหนึ่งของบ้านของโจทก์โดยสิทธิอาศัยและจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ไว้ด้วย โจทก์และสามีจำเลยต่างครอบครองและถือสิทธิในบ้านพิพาทเป็นสัดส่วนแยกจากกัน” อุทธรณ์ของโจทก์จึงน่าจะเป็นข้อโต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เห็นว่าสามีของจำเลยเป็นผู้อาศัยบ้านของโจทก์อย่างไรนั้นเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาจากทางนำสืบให้ได้ความว่า มีการเข้าไปอาศัยกันอยู่จริงหรือไม่ อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่อีก ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว สำหรับฎีกาข้อ 2.2 และข้อ 2.3 ซึ่งเป็นสองข้อสุดท้ายเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ลอย ๆ ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่บ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองสุข ยินดี ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้นายประสิทธิ์และครอบครัวอยู่อาศัย ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธในเรื่องการได้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง นายประสิทธิ์สามีจำเลยยืนยันว่าย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทตามสัญญาอาศัยที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา จำเลยอยู่ในบ้านของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของนายประสิทธิ์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่อาศัย จำเลยก็ต้องออกไปจากบ้านพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์และนายประสิทธิ์สามีจำเลยต่างครอบครองและถือสิทธิในบ้านพิพาทเป็นสัดส่วนแยกจากกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นภริยาของนายประสิทธิ์ให้ออกจากห้องพิพาทซึ่งอยู่ในบ้านของโจทก์น่าจะเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงตามประเด็นข้อพิพาทของคดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทหรือไม่เท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ตามที่ได้กำหนดไว้ดังกล่าวเมื่อจำเลยโต้เถียงว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของผู้อื่นที่มิใช่โจทก์จำเลยย่อมนำสืบให้ปรากฏได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์และนายประสิทธิ์สามีจำเลยต่างครอบครองและถือสิทธิในบ้านพิพาทเป็นสัดส่วนแยกจากกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย เป็นการวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีไม่นอกฟ้องนอกประเด็นนั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อดังกล่าวฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share