แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่ว ๆ ไปกรณีใดที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรต้องบังคับไปตามนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 เท่านั้น
ศาลแรงงานสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วกำหนดวันนัดพิจารณาและออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันนัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 27 ถ้าจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดและศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคสอง จำเลยจะต้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและพิจารณาใหม่ตามมาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้แล้วโดยเฉพาะ
การที่ศาลแรงงานจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคสอง ได้ จะต้องปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม จำเลยย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนและพิจารณาคดีใหม่เมื่อใดก็ได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการส่งหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมคือต้องส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74(2)
จำเลยอ้างในคำร้องว่าบ้านเลขที่ 51/291 ที่ศาลแรงงานกลางส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายไม่ใช่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เพราะจำเลยได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 80 แล้วตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้อง ดังนี้หากได้ความตามคำร้องย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยชอบแล้ว เมื่อไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อใดก็ได้ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 41 ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ที่บ้านเลขที่ 51/291 จริงหรือไม่
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าคอมมิชชั่นพร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 เวลา14.30 นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าวส่งให้จำเลยพร้อมสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายและให้มีผลเป็นการรับหมายทันที ณ บ้านเลขที่ 51/291 ถนนลาดพร้าวซอย 128/3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครตามที่โจทก์ทั้งสามระบุไว้ในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยครั้นถึงวันเวลานัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาคดีของโจทก์ทั้งสามไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าคอมมิชชั่นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำฟ้องแล้วได้ออกคำบังคับส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยให้มีผลเป็นการรับคำบังคับทันที ณ บ้านเลขที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 และ17 ธันวาคม 2542
วันที่ 11 มกราคม 2543 จำเลยยื่นคำร้องว่า บ้านเลขที่51/291 ที่ศาลแรงงานกลางส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องรวมทั้งคำบังคับให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายนั้นมิใช่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เพราะบ้านดังกล่าวเป็นบ้านที่จำเลยเช่ามาจากผู้อื่นเพื่อใช้เป็นสถานประกอบการค้าทำธุรกิจด้านจัดงานมงคลสมรสที่โจทก์ทั้งสามกับพวกและจำเลยร่วมกันเปิดดำเนินการในลักษณะห้างหุ้นส่วนสามัญเมื่อเดือนกันยายน2542 โดยแบ่งหน้าที่กันทำและแบ่งปันกำไรกัน แล้วต่อมาโจทก์ทั้งสามกับพวกและจำเลยได้ตกลงเลิกการเป็นหุ้นส่วนกัน จำเลยจึงได้ย้ายออกจากบ้านเลขที่ดังกล่าวไปมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 80 หมู่ที่ 13 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งโจทก์ทั้งสามก็ทราบการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตลอดจนคำบังคับให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 51/291 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย วันที่ 22 ธันวาคม2542 จำเลยไปที่บ้านดังกล่าวจึงได้ทราบว่ามีคำบังคับปิดไว้จำเลยจึงติดต่อขอคัดเอกสารในสำนวนที่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2542 และได้ทราบว่าถูกโจทก์ทั้งสามฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ทันกำหนดเพราะไม่ทราบว่าถูกฟ้อง อันเป็นพฤติการณ์นอกเหนือซึ่งไม่อาจบังคับได้ หากได้มีการพิจารณาใหม่ โจทก์ทั้งสามจะไม่ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าคอมมิชชั่น เพราะโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจนถึงชั้นบังคับคดี และพิจารณาใหม่ทั้งหมดหรืออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยได้โดยไม่ต้องไต่สวน ให้งดการไต่สวน แล้วมีคำสั่งว่าการขอพิจารณาใหม่กรณีของจำเลยต้องบังคับตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 ได้เพราะการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาเป็นการสั่งตามมาตรา 40 วรรคสอง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 11 มกราคม 2543 จึงเกินกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด ไม่ชอบด้วยมาตรา 41 ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่าศาลแรงงานกลางยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยโดยไม่ไต่สวนชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่ว ๆ ไป โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษกรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรต้องบังคับไปตามนั้นจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 เท่านั้น กรณีศาลแรงงานสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วกำหนดวันเวลานัดพิจารณาและออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 27 เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วถ้าจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40วรรคสอง จำเลยจะต้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและพิจารณาใหม่ตามมาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้แล้วโดยเฉพาะ แต่การที่ศาลแรงงานจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 40วรรคสอง ได้จะต้องปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามมาตรา 37 แล้ว มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินไปย่อมเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมายเพราะเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมซึ่งจำเลยมีสิทธิขอให้เพิกถอนและพิจารณาคดีใหม่เมื่อใดก็ได้และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการส่งหมายเรียกไว้จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 คือต้องส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74(2) คดีนี้จำเลยอ้างในคำร้องว่าบ้านเลขที่ 51/291 ที่ศาลแรงงานกลางส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายนั้นไม่ใช่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยเพราะจำเลยได้ย้ายออกจากบ้านดังกล่าวไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 80 หมู่ที่ 13 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี แล้วตั้งแต่ก่อนโจทก์ทั้งสามจะยื่นคำฟ้อง ดังนี้หากได้ความตามคำร้องของจำเลยย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยชอบแล้ว เมื่อไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบ จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อใดก็ได้ ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 41แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของจำเลยให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ที่บ้านเลขที่ 51/291 จริงหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนจึงเป็นการไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลย แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี